DE

One Fri-day ตอนที่ 3 รู้เท่าทันสื่อ ผ่านเกมการ์ดพลังสื่อ

Online session

ในยุคที่เครื่องมือและเทคโนโลยีการสื่อสารก้าวหน้า ประชาชนอย่างพวกเราเป็นทั้งผู้บริโภคและผู้ผลิตสื่อ (prosumer) แต่เป็นผู้ผลิตอย่างเรารู้เท่าทันผลกระทบของสื่อมากแค่ไหนกัน? เกมการ์ดพลังสื่อจะพาเราไปพินิจพิจารณาสื่อรอบตัว ผ่านกรอบคำถามเพื่อการรู้เท่าทันสื่อ 5 คำถาม ได้แก่ ใครเป็นคนสร้างสื่อ? ใช้เทคนิคอะไรในการสร้างสื่อ? มีคุณค่าหรือความหมายอะไรแฝงอยู่ในสื่อ? สื่อนั้นมีเป้าหมายอย่างไร? และ แต่ละคนมีประสบการณ์และการตีความสื่อต่างกันออกไป

Online session

เฟรดเดอริค ชปอร์ เล่าถึงความสำคัญของการรู้เท่าทันสื่อ

กิจกรรม One Fri-day ตอนที่ 3 รู้เท่าทันสื่อกับเกมการ์ดพลังสื่อ วันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2563 คุณเฟรดเดอริค ชปอร์ หัวหน้าสำนักงานประเทศไทย ได้มาร่วมแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับการรู้เท่าทันสื่อ จากประสบการณ์อดีตผู้สื่อข่าว คุณเฟรดเดอริคเห็นว่าการรู้เท่าทันสื่อเป็นเรื่องสำคัญมาก กรณีการระบาดของไวรัสโควิด19 เป็นตัวอย่างของการระบาดของข้อมูล เนื่องจากมีข้อมูลมากมาย ก่อให้เกิดความสับสน  ประกอบกับการสื่อสารขยายกว้างไปกว่าผู้สื่อข่าววิชาชีพ ด้วยเทคโนโลยีการสื่อสารและพื้นที่ ทำให้สังคมเต็มไปด้วยผู้สื่อข่าวที่ไม่ได้ถูกฝึกฝน ทำให้การตรวจสอบข้อมูล เนื้อหา หรือการประเมินความน่าเชื่อถือของข้อมูลมีความยากมากขึ้น เกมการ์ดพลังสื่อจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่จะพาเรากลับไปตั้งคำถามกับสื่อ เช่น ใครเป็นเจ้าของหรือเบื้องหลังสื่อนั้น เขามีวาระแอบแฝงอะไร หรือต้องการอะไรจากผู้รับสื่อหรือเปล่า เหล่านี้เป็นคำถามที่เราต้องตั้งคำถามและตอบกับตัวเองให้ได้

Online session

ดร. พิมพ์รภัช (พี่แมรี่) เล่าถึงแรงบันดาลใจและความร่วมมือกับกองทุนพัฒนาสื่่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ในการพัฒนาเกมการ์ดพลังสื่อ

จากนั้น ดร. พิมพ์รภัช ดุษฎีอิสริยกุล (พี่แมรี่) ได้เล่าถึงที่มาและแรงบันดาลใจในการพัฒนาเกมการ์ดพลังสื่อ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 โดยความร่วมมือกับกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จุดเริ่มต้นในการพัฒนาสอดคล้องกับสถานการณ์ที่คุณเฟรดเดอริคเล่าถึงการเป็นสื่อ ภายใต้ความคิดว่าใครๆ ก็เป็นสื่อได้ ประกอบกับการสื่อสารที่ง่ายดายอาจทำให้เกิดการแพร่กระจายของข้อมูลที่ไม่เหมาะสม ดังนั้นการรู้เท่าทันสื่อจึงเป็นเรื่องสำคัญโดยเฉพาะในเด็กและเยาวชน เพื่อให้เกมนี้เล่นง่ายและได้เรียนรู้เกมการ์ดพลังสื่อ เกมการ์ดพลังสื่อพัฒนาแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2561 และได้จัดกิจกรรมแนะนำเกม รวมถึงอบรมครู นักการศึกษา นักกิจกรรมที่สนใจตลอดปี พ.ศ. 2561 ต่อมาในปี พ.ศ. 2562 เกมการ์ดพลังสื่อได้รับเลือกให้ไปนำเสนอที่ World Forum For Democracy ในหัวข้อการศึกษาเพื่อการรู้เท่าทันสื่อ นอกจากนี้ในปี พ.ศ. 2562 ยังมีการปรับปรุงและพัฒนาสถานการณ์และวิธีการเล่นเกมการ์ดพลังสื่อให้น่าสนใจยิ่งขึ้น กลายเป็นเกมการ์ดพลังสื่อรุ่นที่ 2 นั่นเอง  

One Fri-day ในครั้งนี้พาเล่นเกมการ์ดพลังสื่อรุ่นที่ 2 และได้รับความสนใจจากเพื่อนชาวต่างชาติ เราจึงแบ่งการเล่นเกมออกเป็น 2 รอบ คือ รอบภาษาไทย และรอบภาษาอังกฤษ

เกมการ์ดพลังสื่อประกอบด้วยการ์ด 2 ชุด คือ การ์ดพลังสื่อ (การ์ดสถานการณ์สื่อ) และการ์ดเท่าทันพลังสื่อ (การ์ดคำถาม) โดยในชุดการ์ดคำถามจะมีการ์ดพิเศษอยู่ด้วย วิธีการเล่นเกมการ์ดพลังสื่อ คือ ผู้เล่นจะต้องวางการ์ดเท่าทันพลังสื่อเพื่อตอบคำถามรู้เท่าทันการ์ดพลังสื่อ ในแต่ละรอบผู้เล่นจะเลือกวางการ์ดเท่าทันพลังสื่อได้ 1 ใบ และสลับกันไปจนครบวง ผู้เล่นที่ชนะการ์ดพลังสื่อ คือผู้เล่นที่วางการ์ดเท่าทันสื่อใบที่ 5 เพื่อตอบคำถามในการ์ดพลังสื่อนั้นๆ

Online session

บรรยากาศระหว่างการเล่นเกมการ์ดพลังสื่อ ผ่าน Zoom Meeting มีผู้สังเกตการณ์ในห้องประชุม จากเฟซบุ๊คเพจ Fnf Thailand

ในการเล่นรอบแรก เป็นการเล่นในภาษาไทย ประกอบด้วยผู้เล่น 4 คน ได้เลือกการ์ดสถานการณ์ 4 สถานการณ์ ได้แก่ 1. การนำเสนอข่าวสิ่งแวดล้อมผ่านแฟนเพจ 2. การถ่ายวิดีโอไลฟ์สดเพื่อขายของ 3. การสัมภาษณ์บุคคลในประเด็นต่างๆ และ 4. โฆษณาคั่นระหว่างเล่นเกม การเล่นในรอบนี้ได้ทดลองใช้วิธีสุ่มเปิดแผ่นป้ายเพื่อลงการ์ดเท่าทันสื่อ คือ ผู้เล่นเลือกเปิดแผ่นป้าย และเลือกว่าจะใช้การ์ดเท่าทันสื่อตอบในการ์ดพลังสื่อใบไหน หลังจากการเล่น ผู้เล่นสะท้อนว่าเกมการ์ดพลังสื่อทำให้ได้กลับมาตั้งคำถามผ่านมุมมองผู้บริโภคและผู้ผลิตสื่อ และเป็นการขยายมุมมองสื่อให้กว้างขวางขึ้น เกิดกระบวนการเป็นการตระหนักคิดก่อนที่จะเชื่อหรือส่งต่อสื่อ นอกจากนั้นสถานการณ์ยังสอดคล้องกับปัจจุบันทำให้เชื่อมโยงและเห็นภาพได้ชัดเจน พร้อมทั้งมีข้อแนะนำว่าหากการเล่นเป็นแบบสุ่มแจกการ์ดเพื่อให้ผู้เล่นได้วางแผนการ์ดด้วยตนเองจะเพิ่มความสนุกขึ้น

ในการเล่นรอบที่ 2 เป็นการเล่นเกมกับเพื่อนร่วมงานจาก ประเทศบังกลาเทศ (FNF Bangladesh) และ ประเทศปากีสถาน (FNF Pakistan) ในครั้งนี้ได้เลือกการ์ดสถานการณ์ 4 สถานการณ์เช่นเดียวกัน ได้แก่ 1. การส่งต่อข้อความลูกโซ่ 2. การนำเสนอข่าวสิ่งแวดล้อมผ่านเพจ 3. รายงานข่าวการจ่ายสินบน และ 4. โฆษณาคั่นระหว่างเล่นเกม การเล่นรอบนี้ใช้วิธีสุ่มแจกการ์ดให้ผู้เล่น (ผ่านกล่องข้อความส่วนตัว) เพื่อให้ผู้เล่นได้เลือกและวางแผนการ์ดที่จะใช้ในการตอบคำถามด้วยตัวเอง หลังจากการเล่นเกมการ์ดแล้วเพื่อนร่วมงานจากต่างประเทศสะท้อนว่าการเรียนรู้ผ่านเกมนั้นน่าสนใจ เพราะเป็นการสร้างพื้นที่แลกเปลี่ยนความรู้และความคิด ทั้งยังกระตุ้นให้เกิดการคิดเชิงวิพากษ์อีกด้วย

Online session

One Fri-day Ep 3 รู้เท่าทันสื่อ กับเกมการ์ดพลังสื่อ ได้รับผลตอบรับจากผู้สนใจเกือบ 20 คน เข้ามาร่วมสังเกตการณ์และแลกเปลี่ยนการใช้เกมและแนวทางในการจัดกิจกรรมบอร์ดเกมแบบดิจิทัลต่อไป

พบกับกิจกรรม One Fri-day Ep.4 Visual Note Taking ในวันศุกร์ ที่ 24 เมษายน เวลา 14.00 น. ทาง Zoom Meeting หรือ เพจ FNF Thailand