DE

Living Freedom 2021
Living Freedom 2021 : Let's talk ชวนคุย ชวนฝัน ชวนทุบ ...กว่าจะมาเป็นเพลง

Living Freedom 2021 : Let's Talk

สถานการณ์โควิดตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้หลายอย่างเปลี่ยนไป ไม่ว่าจะเป็นการเรียน การทำงาน วิธีปฏิสัมพันธ์กับผู้คน ทำให้หลายครั้งเราใกล้กันแต่เราก็ไกลกัน วันนี้มูลนิธิฟรีดริช เนามัน ประเทศไทย เลยชวน นักร้อง นักดนตรี นักแต่งเพลง 3 คนที่ชนะการประกวดโครงการ Living Freedom Song Writing Contest 2021 : Let’s talk มาคุยกันว่าที่ผ่านมาแต่งเพลงกันยังไง เจออะไรกันมาบ้าง มีมุมมองต่อเรื่องต่าง ๆ ในสังคม ไปจนถึงมุมมองต่อการกลับมามีปฏิสัมพันธ์กันอีกครั้งผ่านการพูดคุยยังไง

ชวนอ่านบทสนทนาของ ไนท์ ว่าน และ ฟลุ๊ค

 

นักดนตรีที่มีงานเป็นคนขายหนังสือและเปิดร้านชวนคนมาคุยกัน

นักร้องเพลงแจ๊สผู้ประสานเสียงให้เพลงของศิลปินหลายคนกลมกล่อมขึ้น

นักศึกษาดนตรีที่ยังไม่เคยไปเรียนที่มหาวิทยาลัยเลยตั้งแต่สอบเข้าได้

ไนท์ วงสมจริง

1.ในช่วงปีที่ผ่านมา


ไนท์: เกือบไม่ไหวครับ จิตใจห่อเหี่ยว ทั้งจากรายได้หลักจากการเล่นดนตรีกลางคืน และเหตุบ้านเหตุเมือง สถานการณ์โลก แต่กลับมามีกำลังใจจากเสียงเพลง เพื่อน และคนที่รักเราคอยอยู่ข้างๆเราเสมอ ยังพอหารายได้จากทางอื่นได้ เช่น ขายหนังสือ กับ รับงานถ่ายภาพ 

ว่าน: ช่วงที่ผ่านมาไม่ค่อยได้ร้องเพลงเลยค่ะ โหยหามาก เพราะปกติจะออกไปรับงานร้องเพลงทุกวัน พอไม่ได้ใช้บนเวทีเลยกลัวว่าจะไม่มีแรงบันดาลใจ เลยคิดว่าต้องทำอะไรซักอย่างที่ยังเป็นเรื่องครอบคลุมเกี่ยวกับดนตรี เลยเริ่มแต่งเพลงค่ะ

ฟลุ๊ค: ผมตั้งความคาดหวังว่า ชีวิตมหาลัยมันคือชีวิตที่มีความอิสระมากขึ้นได้ทำสิ่งที่ชอบ ได้เรียนสิ่งที่ชอบ แต่ทุกอย่างหายไปหมดเลย คนที่ทำงานเกี่ยวกับสื่อบันเทิงหรือศิลปะ น่าจะดาวน์ เพราะเราไม่สามารถแสดงออกได้ ผมโดนแคนเซิลงาน เรียนก็แย่ เพราะว่าเราไม่ได้ไปเรียนที่คณะ ผมคิดว่าไปคณะน่าจะได้อะไรเยอะกว่า ต้องเรียนอยู่ในห้องสี่เหลี่ยม วงแตก สภาพจิตใจไม่ดี มีความรักแต่ผมก็รักษามันไว้ไม่ได้ คนในครอบครัวช่วยได้เยอะมาก ผมเชื่อว่าความรักเปลี่ยนแปลงเราได้ ผมมองสิ่งรอบตัวเยอะขึ้น มองธรรมชาติมากขึ้น ผมเลิกเล่นโซเชียลไปพักใหญ่ และผมได้รับของขวัญจากเรื่องใกล้ตัว คนที่ผมเคยทะเลาะด้วยตอนนี้ผมก็มองทุกคนเป็นเพื่อนหมด ความรักไม่ใช่การครอบครอง เราไม่ต้องคบกันก็ได้ เรามีความสุขกับการใช้ชีวิตมากขึ้นเพราะว่าความรัก

 

2. อะไรยากที่สุดในการทำเพลงช่วงโควิด ?


ไนท์:  การเว้นระยะห่างไม่สามารถทำได้ไปตลอด แต่ยากที่สุดคือการนัดหมายเวลาที่ทุกคนจะสะดวกตรงกัน

ว่าน: สำหรับว่าน การได้ออกไปร้องเพลงหรือไปเที่ยวธรรมชาติคือการสร้างแรงบันดาลใจที่ดีค่ะ เราจะได้มอง ได้เห็นโลกที่ต่างออกไปในทุก ๆ วัน แต่พอมีโควิดไม่ค่อยได้ออกไปไหนเลย ทำให้ไม่ค่อยมีไอเดียค่ะ

ฟลุ๊ค: ผมเห็นอาจารย์ที่คณะแชร์เพจแล้วอ่านหนังสือเกี่ยวกับเรื่องพวกนี้พอดี ก็เลยลองแต่งดู ได้คุยกับเพื่อนก็เลยได้คอนเซปต์มา อธิบายให้เพื่อนฟัง เพื่อนก็ตีคอร์ดกลับมา ส่งกันไปมา พอโควิดดีขึ้นก็เลยได้กลับมาทำเพลง ก็ขอบคุณมากที่เลือกเพลงพวกผม


 

3.ทำไมถึงสนใจเล่นดนตรี เริ่มตอนไหน และได้รับอิทธิพลทางดนตรีมาจากไหน ?


ไนท์: มัธยมต้นโตมากับกีต้าโปร่งเก่าๆฝุ่นเขลอะของน้า และม้วนเทปของแม่ (แม่ขายม้วนเทปและซีดีเพลงตามตลาดนัด) เริ่มหัดเล่นกีต้าร์จากเพื่อน และมีโอกาสรวมวงประกวดดนตรีด้วยกันตอนมัธยมปลาย ได้รับอิทธิพลแต่นั้นมา แม้แยกย้ายต่างไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยต่าง ๆ  

ว่าน : ว่านเริ่มจากการร้องเพลงตอนเด็ก ๆ โดยมีคุณพ่อเป็นนักดนตรี อิทธิพลทางดนตรีน่าจะมาจากคุณพ่อค่ะ เพราะเห็นทุกวัน และท่านก็ช่วยอบรมสอนความรู้ทางดนตรีให้ด้วย จำได้ว่าพอรู้ความก็อยากเป็นนักร้องเพลง

ฟลุ๊ค : พ่อผมเล่นกีต้าร์ บ้านผมชอบฟังเพลง ตอนเด็ก ๆ เห็นก็ไม่ได้เล่น พอเห็นน้องเกลเล่นอูคูเลเล่ ก็เลยซื้ออูคูเลเล่มาเล่น ม.1 ก็เล่นที่โรงเรียน ส่วนตัวฟังเพลงมาตั้งแต่เด็ก เพลงแรกในชีวิตคือ อมพระมาพูดของพี่เสก เป็นเพลงที่จำได้เลย จนถึงม.3 บ้านเปิดรับลงเพลงในมือถือ มันเลยเป็นการเปิดโลกการฟังเพลงของผมมาก เช่น เพลงของสครัป เสล่อ โรคจิดคอยแอบมองให้เธอมีรอยยิ้ม พ่อมีซีดีเพลงที่รวมเพลงร๊อค แอโรสมิทต่างๆ ว่าง ๆ เล่นบาสไม่มีอะไรทำก็ฟังเพลง แล้วก็มีกลุ่มเพื่อนที่เล่นดนตรีด้วยกัน เห็นว่ามันเท่ เพลงแรกเลยคือ บุษบากับตาสว่าง เล่นตอนปีใหม่ ไม่มีคนดูเลย แตก็เล่นมา พอย้ายมาโรงเรียนประจำ โรงเรียนสอนแต่งเพลง วันหนึ่งมีการบ้านมาให้แต่งเพลง ผมก็โดดเรียนไปแต่งเพลง แล้วก็คิดว่าตัวเองก็แต่งเพลงได้นิ เลยได้ฟังเพลงมากขึ้น แล้วก็ได้ไปดูคอนเสิร์ตวงพรูและวงพราว แล้วมีวงที่ยังเรียนมหาลัยแล้วได้ขึ้นเวที เลยอยากทำอะไรแบบนั้นบ้าง พอไปเสิร์ชดูก็รู้ว่าเค้าเรียนคณะดนตรีกัน ก็เลยเริ่มเรียนดนตรี

ว่าย นะสิปป์

4.เพลงแรกที่แต่งเกี่ยวกับอะไร และเริ่มการแต่งเพลงยังไง?


ไนท์ : เพลงแรกที่แต่งเขียนถึงเพื่อนที่กำลังจะแยกย้ายไปเรียนต่อ วิธีเขียนเพลงแรก ๆ จะมาจากเนื้อเพลงก่อน มีทั้งสะสมเป็นท่อน/เป็นประโยค และมาเขียนให้จบภายหลัง  บางทีอาศัยให้เพื่อนแต่งเมโลดี้มาให้ลองเขียนเนื้อเพลงบ่อยขึ้น แต่พักหลังจะใช้วิธีเขียนเนื้อเพลงและทำนองไปพร้อมกัน
ระหว่างนั้นให้อ่านหนังสือบ้าง ฟังเพลง ดูหนังเยอะ ๆ ฟัง/สนทนากับเพื่อนพี่น้องรวมถึงคนไม่รู้จัก และหาจังหวะเดินทางบ้าง เพื่อหาวัตถุดิบ และ แรงบันดาลใจ

ว่าน : ว่านเริ่มแต่งเพลงจากการที่อยากมีเพลงเป็นของตัวเองค่ะ อย่างที่บอกว่านเป็นนักร้อง บางทีเราจะได้ยินเมโลดี้ที่เราชอบ ก็เลยคิดว่าเราน่าจะลองแต่งเพลงดู แต่นานอยู่ค่ะ กว่าจะได้เพลงที่เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา และเอาเมโลดี้ที่เราคิดมาทำ เพลงแรกที่แต่งเป็นรูปเป็นร่างจริง ๆ ชื่อเพลง หาจำ เนื้อหาเกี่ยวกับความทรงจำกับใครบางคนค่ะ ไม่ว่าจะลืมแค่ไหนก็หาจำไปอยู่ทุกที

ฟลุ๊ค : การแต่งเพลงบางทีมันว๊าป มันมีอะไรพลั้งพรูออกมาเลย เหมือนนักแข่งรถที่ต้องขับให้ถึงจุดหมาย ผมเชื่อความรู้สึกตัวเอง ซื่อสัตย์กับตัวเอง ผมจะเลือกเขียนเพลงที่ผมเห็นภาพ เพลงแรกที่แต่งแต่งตอนสงกรานต์ ทีมีแต่คำว่า่รักแธอ ๆ ผมมีความรักครับ เค้าเป็นตัวท๊อป ไม่รู้จะทำอะไรให้เค้าดี ก็เลยแต่งเพลง แต่ไม่ได้ให้เค้าฟังเพราะเค้าสวยมาก ท่อนแรกคือ บอกรักใครต้องพูดตรงๆ บอกรักคุณต้องพูดยังไง กลัวว่าบอกแล้วจะเสียใจ เพราะผมรักคุณไม่ได้รักใครจะเร็วไปไหมถ้าผมจะบอก ผมรักคุณ ผมรักคุณ ตอนนั้นผมก็รู้สึกว่ามันเจ๋งมากเลย เพื่อน ๆ ก็ร้องได้ แต่สาวไม่รู้ เพลงเซ็ตความรักมี 3 เล่มครับ ไม่ซ้ำคน

 

5.  ปีนี้เป็นหัวข้อ Let’s talk ตอนเริ่มแต่งเริ่มจากอะไร ?


ไนท์ : จากการตั้งคำถาม (เพลงจึงมีการตั้งคำถามในเนื้อเพลง) เพียงเราถามว่า “เราพอจะคุยกันได้ไหม เราจะพอจะร้องเพลงนี้ด้วยกันได้อีกอยู่ไหม หากวันหนึ่งเราเข้าใจ หรือมีความคิดบางอย่างที่ไม่ตรงกัน เวลาผ่านไป ถ้าเรากลับมาเจอกันอีกครั้งหลังเหตุการณ์หนัก ๆ ร้าย ๆ บอบบางเหล่านี้มันผ่านไป เรายังพอจะทักทายและยังรักษาสัญญาหรือฝันที่เคยปักไว้ด้วยกันได้ไหม?” แต่ตั้งใจทิ้งไว้ไม่ให้มีคำตอบใดๆที่ตายตัว คล้ายเว้นพื้นที่ให้เรา แม้เราจะแตกต่างหรือมีความขัดแย้งกันแค่ไหนก็ตาม 

ว่าน: let’s talk สำหรับความคิดของว่านเริ่มจากครอบครัว มีหลายรูปแบบของครอบครัวมากที่ไม่กล้าที่จะเปิดใจพูดคุยกัน ในบางเรื่อง อยากให้เพลงนี้เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยให้หันมาเปิดใจคุยกัน

ฟลุ๊ค : มันเหมือนกันการเจริญสติ รู้ตัวมีสมาธิอยู่กับปัจจุบัน พอถึงเวลาก็คงต้องตายจาก นักบวชประเทศหนึ่งเวลาเจอกันจะบอกกันว่าอย่าลืมนะว่ามันหนึ่งก็ต้องตาย เราจะมีชีวิตอยู่ถึงไหนก็ไม่รู้ สิ่งไหนที่มีค่าที่สุด คือความสัมพันธ์ในชีวิต เราไม่ได้เข้าใจตัวเองทั้งหมด ถ้ามีคนเข้าใจก็ดีมากแล้ว พอท่อนฮุกมันคือกะลาอยู่ในมือ เราจะเลือกใส่หรือถอดออก เราก็อยู่ในกะลาของเรา อาจไม่ใช่คนอื่นครอบเรา เราต้องเปิดออกมา หรือทุบออกมาถ้ามันเปิดยาก เราทุบกะลาของเราไม่ได้ไปทุบของคนอื่น ถ้าเราไปทุบของคนอื่น เราก็ต้องคิดแล้วว่าเรามีเจตนาอะไร การที่คนไม่ยอมออกจากกะลาตัวเองมันอาจมีหลายปัจจัย เป็นแผลในใจแต่ละคน เช่นผมกลัวการอยู่คนเดียว บางคนก็เลือกเพื่อนมาอยู่ด้วย ถึงเวลาจำเป็นทุกคนจะทุบกะลาของเราเอง ถ้าเราไม่ทุบเราอาจจะทุกข์ใจ คนที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ทุกข์ใจด้วย

 

6.เคยมีประสบการณ์เวลาคุยกับคนที่เห็นไม่เหมือนกัน เห็นต่างไหม ถ้าเจอสถานการณ์แบบนั้นตอบสนองหรือจัดการยังไง?
ไนท์ : เคยเจอบ้างครับ เราแค่ลดความรู้สึกลงให้มากอย่าเอามาเป็นที่ตั้ง เพิ่มข้อความที่มีเหตุผลและยกตัวอย่างให้เข้าใจ เข้าถึงกันง่ายขึ้น ใจเย็นลง รับฟังอีกฝ่ายด้วยความตั้งใจและจริงใจ วางธงคำตอบนั้นไว้หากมีมาแต่บ้าน ชื่นชมกันในเรื่องเล็กๆน้อยๆบ้าง  หากบทสนทนามีน้ำหนักที่เชื่อมกันไม่ติด ให้หยุด ถอยออก หรืออาจเบนไปประเด็นอื่น ท้ายสุดคือยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น และเครพในความเห็นนั้น

ว่าน : ว่านว่าอย่างแรกเลยคือการฟังค่ะ การที่เราฟังก็จะทำให้เราได้รับรู้ทัศนคติของคนที่เราเห็นต่างด้วยค่ะ และก็เริ่มพูดคุยไปในแนวทางที่เรียนรู้ความคิดของอีกฝ่ายศึกษากันเพิ่มเติม ไม่ใช้ในแนวทางการโต้แย้งค่ะ

ฟลุ๊ค : ตอนมัธยมเวลาวัยรุ่นผมก็ทำตัวกบฎ แล้วไง จะทำจะพูด พอเจอคนเห็นต่าง ฮอโมนเราก็พุ่งพล่าน เราก็แสดงออกทางความคิดอย่างหนึ่ง บางทีเราก็อาจหลอกตัวเองว่าเรารับกับการกระทำนั้นได้ แต่บางอย่างก็รับไม่ได้ อย่างหนึ่งแต่ผลรับก็สะท้อนบ้างเรื่อง พอโตขึ้นมาเราก็รับฟังได้มากขึ้น เพราะโตขึ้นก็เห็นความคิดมีหลายแบบ บางที่เราไม่เข้าใจเค้า เราก็ต้องทำความเข้าใจว่าเค้าก็อาจจะไม่เข้าใจเราเหมือนกัน เค้าไม่เข้าใจเราก็ไม่เป็นไร เราก็พยายามทำความเข้าใจฝ่ายตรงข้าม เคารพและฟังซึ่งกันและกัน ไม่ว่าแนวคิดไหนถูกผิดเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่จิตใจเราก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งว่าเราเห็นกับความคิดยังไงกับความคิดนั้น เราอยากเอาชนะเค้าหรือเปล่าหรืออยากทำความเข้าใจเค้า

ฟลุ๊ค The YUY

7. มีเรื่องอะไรที่เดอะยุ่ย/ไนท์/ว่าน มองว่าเป็นเรื่องที่คุยกันยาก และทำไมถึงยาก ?


ไนท์ : ยากกว่า ปรัชญา คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ การเงิน และ การเมือง ก็คือการคุยกันเรื่องของ “ความรัก ความสัมพันธ์และความรู้สึกของกัน” เพราะเชื่อว่าจิตใจของคนเราซับซ้อนและบอบบางในตัวเอง ไม่เรื่องใดก็เรื่องหนึ่ง อีกคนมักมองข้ามสิ่งนี้เสมอเมื่อปฏิสัมพันธ์ถึงกัน เราอาจต่างเป็นผู้สร้างกำลังใจให้กันและเป็นทั้งผู้ทำร้ายหัวใจอีกคน ทั้งรู้ตัวและอาจไม่รู้ตัว 

ว่าน: ว่านว่าตอนนี้อาจจะเป็นเรื่องความเห็นต่างทางสังคม วัฒนธรรมและรูปแบบความคิดของการเลือกของแต่ละคนในการใช้ชีวิตค่ะ แต่ส่วนตัวว่างมองเรื่องนี้เป็น Private space ถึงแม้ว่าเห็นต่างกันแต่ก็สามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันได้ค่ะ มาพูดคุยเพื่อเรียนรู้ศึกษากันไม่ใช่โต้แย้ง

ฟลุ๊ค: ผมคิดว่าความเชื่อในทุกเรื่องยากสุด การเมือง การปกครอง ศาสนา ความเชื่อเรื่องผีสาง เรื่องดวง บางคนด่าว่างมงาย บาป แต่สิ่งที่เราสมควรทำคือการฟังมันก็พอ

ผมคิดว่าความต่างมันเป็นเรื่องปกติ นักปรัชญาคนหนึ่งบอกว่ามนุษย์เราพัฒนาเพราะว่าเราเห็นต่างกัน โลกทุกวันนี้พัฒนา ถ้าเราอยู่แต่บ้านแล้วไม่มีคนให้เช่าบ้าน เราก็อาจจะคิดแค่ว่าบ้านไกล แต่พอมีห้องเช่า เราก็เลือกอยู่ใกล้ได้ การเห็นต่างเป็นเรื่องที่ดี แต่สิ่งที่ไม่ดีคือการกระทำหลังจากการเห็นต่าง เช่น การประท้วง มีหลายฝ่ายมาก มันไม่ผิดถ้าคนหนึ่งจะคิดแบบหนึ่ง แต่มันผิดนะ ถ้าคนจะทำร้ายกันเพราะเห็นไม่ตรงกัน คนหนึ่งบอกว่าชอบแดง อีกคนชอบสีน้ำเงิน ถ้าไม่ขอบต้องตาย มันป่าเถื่อนมากนะครับ เราน่าจะมาไกลจากการกระทำแบบนี้ได้แล้ว ความรุนแรงไม่ได้ก่อให้เกิดอะไร ผมเคยใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา มันไม่ได้เกิดอะไรที่ดีขึ้นเลย ผมเชื่อว่าทุกคนต้องหงุดหงิด มีความรู้สึกแบบนี้ในใจ เราจะตอบสนองต่อสถานการณ์นั้นยังไง หลัง ๆ ผมเลือกที่จะรับฟัง เพราะอะไรเค้าถึงอยากให้เราคิดแบบนี้ ผมคิดว่าการรับฟังสำคัญพอ ๆ กับการกระทำ ดูว่าประเด็นของเรื่องนี้คืออะไร ฟังแล้วถ้าเราเปลี่ยน มันมีเหตุผลที่เค้าต้องการให้เราเปลี่ยน ถ้าเป็นผลที่ดีเราก็ควรจะปรับ บางคนอาจแค่อารมณ์เสียอยากระบายเราก็รับฟัง

 

8. เพลงถูกมองว่ามีอิทธิพลกับความรู้สึกนึกคิดของคน เดอะยุ่ย/ไนท์/ว่านคาดหวังอะไรกับเพลงที่ตัวเองแต่ง ?
ไนท์: ขอให้เพลงเป็นอีกวิธีหนึ่งที่เราพอจะทำได้ และ พอมีอยู่นี้ เป็นสื่อกลางหรือข้อความสั้น ๆ มอบส่งถึงอีกคน ทำงานกับความรู้สึกนั้นไปด้วยกัน อย่างน้อยก็ต่างให้เรารู้ว่า เราไม่ได้อยู่ลำพัง และเนื้อนัยเพลงล้วนมีความหมาย มีคุณค่า กับทั้งคนสร้างสรรค์และผู้รับฟัง

ว่าน: ทุกเพลงที่ออกมาเป็นสื่อที่ดีมาก ๆ ว่านหวังว่าเพลงจะเป็นตัวช่วยในการเปิดมุมมองให้คนหันหน้ามาคุยกันค่ะ รู้สึกดีใจมากที่ได้มีส่วนร่วมในการแต่งเพลงหัวข้อดี ๆ แบบนี้ ต้องขอบคุณกิจกรรมดี ๆ ด้วยนะคะ

ฟลุ๊ค: เพลงมันเหมือนดาบสองคม เป็นอาวุธก็ได้ เป็นยารักษาก็ได้ เป็นสมุดจดบันทึกก็ได้ ผมเชื่อว่าศิลปะทุกแขนงมีอิทธิพลหมดเลย มีคนหนึ่งชื่อเอียนมีภาวะซึมเศร้า พอเค้าฟังเพลงเสร็จเค้าฆ่าตัวตาย มันเป็นตัวอย่างว่าเพลงมีอิทธิพลต่อจิตใจ อย่างเพลงของพี่บอยโก ฟังแล้วก็รู้สึกดี ส่วนตัวรู้สึกว่า ผมไม่ชอบเพลงที่ทำให้เกิดความรุนแรง ผมรู้สึกว่าเพลงควรจรรโลงใจ เค้ามีเสรีภาพที่จะสร้างเพลงแต่ผมก็ไม่ผิดที่จะรู้สึกแบบนี้ เพลงผมเป็นแนวอัลเทอเนทีฟ ผมอยากทำงานศิลปะเฉย ๆ ไม่ได้คาดหวังว่าจะไปอยู่จุดไหน

 

9.เพลงต่อไปที่จะแต่งเป็นเพลงเกี่ยวกับอะไร มีเรื่องอะไรที่คิดว่าน่าสนใจ ยังไม่เคยฟังในตลาดเพลงแล้วคิดว่าอยากให้มี?


ไนท์: อยากทำเพลงเกี่ยวกับการรณรงค์เรื่องความหลากหลายทางเพศ / เรื่องสิ่งแวดล้อม / และประเด็นเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในมิติต่าง ๆ

ว่าน: น่าจะเป็นเพลงให้กำลังใจ ให้พลังบวกค่ะ ไม่ก็เป็นเพลงมุมมองความรักที่ไม่มีเงื่อนไข อะไรประมาณนี้ค่ะ

ฟลุ๊ค: ส่วนใหญ่ผมแต่งเพลงเกี่ยวกับความคิด ระบายอารมณ์ บางเรื่องเราไม่ได้บอกใครเราก็แต่งเป็นเพลงมากกว่า ปีหน้า 2022 (บทสัมภาษณ์ สัมภาษณ์ไว้ตั้งแต่ปี 2021) ผมกำลังทำอัลบั้ม ผมแต่งเพลงไว้เพลงหนึ่ง ผมเขียนขึ้นมาเพื่อระบายอารมณ์ ช่วง ๆ หนึ่งเป็นวัยรุ่น แล้วเพื่อน ๆ หลาย ๆ คนก็เป็นเหมือนกัน ปรึกษาพูดคุย บางเรื่องมันไม่จบตรงนั้นผมก็เลยเลือกเขียนเพลงออกมา ตบกระโหลกบางคนผ่านเพลง ทุกครั้งที่เขียนเพลง มันเหมือนไดอารี่ บันทึกความทรงจำ หลายเพลงที่เขียนก็ทำให้ผมได้เห็นทางออก ได้ทำความเข้าใจความคิดตัวเอง สรุปเราคิดแบบนี้จริงหรือเปล่า ที่แต่งเพลงเกี่ยวกับความคิดเพราะผมคิดว่ามันเป็นส่วนประกอบหลักในเรื่องความสัมพันธ์ของโลกต่อผู้คน

 

10.ฝากบอกคนฟังเพลงหน่อยว่าทำไมถึงต้องฟังเพลงLet’s Talks/ทุบกะลา/เรายังจะฝันอยู่ไหม?


ไนท์ : ยุคสมัยนี้เราพร้อมที่จะตีตรา ตัดสิน แล้วพร้อมที่จะประจาน ประณาม กลั่นแกล้ง(BULLY) กดทับ และบั่นทอนจิตใจ ทำร้ายความรู้สึกของอีกคนได้ทุกเมื่อ ทั้งหมดคือความรุนแรงประเภทหนึ่ง เป็นสิ่งที่สร้างเงื่อนไขให้เกิดแรงปะทะและความรุนแรงในอีกหลาย ๆ รูปแบบ ในหลากประเด็นทางความคิดและการอยู่ร่วมกัน
อยากชวนให้ถกถาม แลกเปลี่ยน และเน้นย้ำถึงกัน ว่าเราพอที่จะระมัดระวังกับสิ่งเหล่านี้ให้มากขึ้นได้หรือไม่ ?

อย่างน้อย ๆ ในเพลงทั้ง 3 เพลง ที่ได้รับการคัดเลือก และอีกหลายๆเพลงที่ร่วมโครงการนี้มีข้อความที่เต็มไปด้วย ความรัก กำลังใจ ความหวัง ความฝัน ความสัมพันธ์ อันดีที่มีต่อผู้คนนับไม่ถ้วน ที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะชนไม่มากก็น้อย และขอขอบคุณโอกาสดี ๆ นี้ครับ

ว่าน: เพลง Let’s talk ถูกแต่งขึ้นมาจากความรู้สึกดี ๆ จริง ๆ ที่อยากจะมองให้ทุกท่านนะคะ อยากให้เป็นประโยชน์และสร้างความเพลิดเพลินในวันที่เหนื่อยจากสิ่งต่างๆ มาฟังเพลงเติมพลังกันค่ะ

 

ฟลุ๊ค : การเปิดความเข้าใจไม่ได้เริ่มที่การเปิดปาก ความเข้าใจต้องเริ่มจากการเปิดใจคุยกัน ไม่ฟังเนื้อหาก็ฟังคลายเครียดกระโดดได้ครับ เบื่อ ๆ ก็อาจจะตื่น

 

ลองฟังเพลงของพวกเขาวนไปได้ที่ Youtube Channel : Friedrich Naumann  TH

เพลง : เธอยังจะฝันอยู่ไหม แต่งโดย ไนท์ วงสมจริง

https://www.youtube.com/watch?v=NrDhrmOrr6Y

เพลง : Let's talk แต่งโดย ว่าน นะสิปป์ สตูดิโอ

https://www.youtube.com/watch?v=w4Phyn2GHdc

เพลง : ทุบกะลา แต่งโดย ฟลุ๊ค วง THE YUY

https://www.youtube.com/watch?v=4E8cxZPsJqc

และช่องทางสตรีมมิ่งอื่น ๆ เร็ว ๆ นี้