DE

Open Society
กระบวนการแปรเปลี่ยนความขัดแย้งในประเทศศรีลังกา

สรุปการสัมมนาออนไลน์ Conflict Transformation in Sri Lanka
Das Rathaus in Colombo, der Hauptstadt von Sri Lanka
Das Rathaus in Colombo, der Hauptstadt von Sri Lanka © © Friedrich-Naumann-Stiftung für die Freiheit

Brief

  • ศรีลังกา เป็นประเทศเกาะ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของอินเดีย
  • ศรีลังกามีประชากรประมาณ 22 ล้านคน กว่าร้อยละ 74 เป็นชาวสิงหล ประมาณร้อยละ 11 เป็นชาวทมิฬศรีลังกา ร้อยละ 9 เป็นชาวทมิฬมัวร์ ร้อยละ 4 เป็นชาวทมิฬที่อยู่ชนบท และยังมีชนกลุ่มอื่นๆ อยู่ด้วย
  • ศรีลังกาเผชิญกับสงครามกลางเมืองมาตลอด 30 ปี นับแต่ปี 1986 จนถึงปี 2009 สาเหตุของความรุนแรงมาจากความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ ระหว่างชาวสิงหล กับชาวทมิฬ
  • นับเป็นเวลาเกือบ 10 ปีหลังจากเหตุความรุนแรงได้ยุติลงในปี 2009 อย่างไรก็ตามเกิดเหตุจราจลต่อชาวมุสลิมในปี 2018 และเหตุก่อการร้ายในปี 2019 ในประเทศศรีลังกา
  • หลักสูตรการเสริมสร้างสังคมสันติสุข (สสสส.) โดยสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า ร่วมกับมูลนิธิฟรีดริช เนามัน เพื่อเสรีภาพ จัดสัมมนา กระบวนการแปรเปลี่ยนความขัดแย้งในประเทศศรีลังกา โดยมีวิทยากรจากประเทศศรีลังการ่วมบอกเล่าประวัติศาสตร์ รากเง้า บทบาทของภาคส่วนต่างๆ ที่มีส่วนในเส้นทางการเปลี่ยนผ่านจากความขัดแย้งสู่สันติภาพ
  • Luwie Ganeshathasan, Centre for Policy Alternatives (CPA) บอกเล่าถึงสาเหตุความขัดแย้งในประเทศศรีลังกาผ่านมุมมองประวัติศาสตร์ และชาติพันธุ์ หลังจากศรีลังกาเป็นเอกราชจากเจ้าอาณานิคมอังกฤษ ได้มีความพยายามออกแบบรัฐธรรมนูญ รูปแบบการปกครอง และรัฐสภา ประกอบกับสาเหตุเชิงโครงสร้าง เป็นแรงขับให้เกิดความรุนแรง การสิ้นสุดของสงครามกลางเมืองทำให้ความรู้สึกสูญเสียเบาบางลงไปบ้าง
  • Sarah Kirbir, 72 Documentary เล่าถึงกระบวนการสมานฉันท์และสร้างสันติภาพเชิงบวก ผ่านกระบวนการเล่าเรื่อง และทำสารคดี เพื่อนำเสนอเสียงของคนที่อยู่ในความขัดแย้ง ถ่ายทอดประวัติศาสตร์ชุมชน คืนความเป็นมนุษย์ และคืนความรู้สึกเห็นอกเห็นใจ เข้าใจกันมากกว่าที่จะแบ่งแยก
  • Arjuna Ranawana, EconomyNext.com ถ่ายทอดประสบการณ์ในฐานะผู้สื่อข่าวในการสร้างสันติภาพเชิงบวก โดยบทบาทของผู้สื่อข่าวคือการนำเสนอกรณีที่เกิดขึ้นอย่างไม่บิดเบือนและลดอคติในการนำเสนอ เพราะสื่อส่งผลอย่างมากต่อการรับรู้ของผู้คนในสังคม 

ความขัดแย้งภายในประเทศศรีลังกา จากมุมมองประวัติศาสตร์

โดย Luwie Ganeshathasan, Centre for Policy Alternatives (CPA)

ความขัดแย้งในประเทศศรีลังกา ในช่วง 8 ปีที่ผ่านมามีความซับซ้อน ในช่วงก่อนการระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 ธนาคารโลกจัดประเทศศรีลังกาอยู่ในกลุ่มที่มีพัฒนาการมนุษย์สูง (High Human Development) โดยอยู่ในลำดับที่ 73 จาก 188 ประเทศ ได้คะแนน 0.766 จากโครงการและนโยบายทางสวัสดิการสังคมที่ครอบคลุมคนในสังคม เช่น นโยบายเรียนฟรีในการศึกษาขั้นพื้นฐาน ระบบสาธารณสุขที่ครอบคลุม แต่ใน 10 ปีที่ผ่านมา ศรีลังกาเผชิญกับความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ และสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำในปัจจุบันตกต่ำกว่าตอนที่มีความขัดแย้งเสียอีก

ความขัดแย้งในประเทศศรีลังกา เป็นความขัดแย้งเรื่องการเมือง อำนาจทางการเมือง อัตลักษณ์ของประเทศศรีลังกา ความแตกต่างระหว่างกลุ่มชนต่างๆ เป็นพลวัตในความขัดแย้งตั้งแต่ปี 1948 แม้ว่าชาวสิงหลเป็นคนส่วนมากในประเทศศรีลังกา แต่ในบริบทภูมิภาคเอเชียใต้ จะพบว่าชาวทมิฬเป็นกลุ่มที่มีจำนวนมากกว่าและยังมีอิทธิพลต่อรัฐบาลอินเดีย หากมองมิติประวัติศาสตร์ที่ยาวไกล ชาวเชื้อสายอินเดียเข้ามาในประเทศศรีลังกาตั้งแต่แรกเริ่ม และมีความสำคัญในประเทศศรีลังกามาโดยตลอด ขณะที่ชาวสิงหล ที่เป็นคนกลุ่มใหญ่ในประเทศศรีลังกา แต่เป็นคนกลุ่มน้อยในทวีปเอเชียใต้ เกิดความกลัวที่จะกลายสภาพจากคนกลุ่มใหญ่เป็นคนกลุ่มน้อย ความกลัวนี้เองเป็นแรงผลักที่นำไปสู่ความขัดแย้ง

ประเทศศรีลังกาอยู่ภายใต้การปกครองอาณานิคมอังกฤษ จนกระทั่งได้รับอิสรภาพในปี ค.ศ. 1948 อย่างไรก็ตามความขัดแย้งเรื่องอัตลักษณ์ในศรีลังกาเริ่มตั้งแต่ปี 1931 เมื่ออังกฤษรับรองสิทธิการเลือกตั้งแบบ 1 คน 1 สิทธิ 1 เสียง (Universal suffrage) ให้กับศรีลังกาเป็นที่แรก นำมาสู่ความคิดและโครงสร้างการเมืองและโครงสร้างผู้แทนว่าควรเป็นไปตามภูมิศาสตร์ หรือควรเป็นไปตามกลุ่มชาติพันธุ์ นอกจากนี้ในช่วงปลายทศวรรษที่ 1930 ศรีลังกาเริ่มมีการเคลื่อนไหวให้เกิดการปกครองตนเอง (self-government)

หลังจากได้รับอิสรภาพ กลุ่มชนชั้นนำในศรีลังกาเริ่มกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ โดยให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมีส่วนร่วม ภายใต้การกำกับดูแลของอังกฤษ จากนั้นเมื่อเริ่มออกแบบระบบรัฐสภา ทำให้เกิดความขัดแย้งในการจัดสรรจำนวนผู้แทนว่าควรเป็นแบบใด ความไม่ลงรอยนี้ นำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ที่มีหลักการสำคัญ คือ รัฐธรรมนูญต้องไม่ให้ประโยชน์กับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หรือเลือกปฏิบัติต่อกลุ่มอื่นๆ ซึ่งนับเป็นฉันทามติในการตรารัฐธรรมนูญ

ประเด็นผู้ไร้สัญชาติเป็นอีกประเด็นที่เป็นสาเหตุของความขัดแย้ง ในตอนเหนือของศรีลังกามีชาวทมิฬอินเดียอาศัยและทำงานในภาคการเกษตรมากว่า 200 ปี แต่พวกเขาไม่ได้รับการรับรองสัญชาติ ซึ่งผู้ที่กีดกันการรับรองสัญชาติ คือ ชาวทมิฬศรีลังกา ทำให้เห็นว่านอกจากความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ระหว่างชาวทมิฬกับชาวสิงหล ยังมีความขัดแย้งระหว่างชาวทมิฬศรีลังกา กับชาวทมิฬในชนบทด้วย อย่างไรก็ตาม ชาวทมิฬในตอนเหนือได้รับการรับรองสัญชาติจากการตรากฎหมายพลเมือง (Citizenship Act) ในปี 1986-2003

ต่อมาในช่วงกลางทศวรรษที่ 1950 รัฐบาลจากการเลือกตั้งได้ประกาศให้ภาษาสิงหลเป็นภาษาราชการ แต่เกิดการชุมนุมต่อต้าน เพราะประกาศนี้ให้ประโยชน์กับชาวสิงหล ขณะเดียวกันก็กลืนภาษาทมิฬไป ประเด็นเหล่านี้เป็นสิ่งที่ห่อหุ้มความขัดแย้งในประเทศศรีลังกา ที่คนกลุ่มหนึ่ง (สิงหล) มีความรู้สึกว่าพวกเขาต้องปกป้องอัตลักษณ์ของพวกเขา ขณะที่อีกกลุ่ม (ทมิฬ) รู้สึกว่าพวกเขาถูกเบียดขับออกจากส่วนกลาง และเสียงของพวกเขาจะไม่ถูกรับฟัง ข้อกังวลของเขาไม่ได้รับการแก้ไข นำมาสู่ประเด็นถกเถียงว่าศรีลังกาควรปกครองแบบรัฐเดี่ยว (unitary state) หรือสหพันธรัฐ (federal state) แต่สุดท้ายแนวคิดการปกครองแบบสหพันธรัฐก็ตกไป แต่ได้มีการกระจายอำนาจการปกครอง แต่ก็เป็นการกระจายอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกันระหว่างกลุ่มต่างๆ กลายเป็นแรงขับไปสู่ความขัดแย้ง

ในปี 1970 มีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นมากมาย ประการแรก คือ มีการตรารัฐธรรมนูญ 2 ฉบับ ฉบับหนึ่งมีแนวทางสนับสนุนทุนนิยม ขณะที่อีกฉบับมีแนวทางสนับสนุนสังคมนิยม แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในการตรารัฐธรรมนูญ คือ มีการให้สิทธิพิเศษกับภาษาสิงหลกับศาสนาพุทธ นอกจากนี้รัฐบาลกลางยังรวมอำนาจสู่ศูนย์กลาง (Centralization) ทำให้ชาวทมิฬยิ่งรู้สึกว่าถูกชาวสิงหลรังแก ขณะนั้นเยาวชนชาวทมิฬก็เห็นว่าการเจรจาไม่เป็นผล เพราะสุดท้ายเสียงส่วนมากก็ชนะอยู่เสมอในรัฐสภา นำไปสู่การรวมตัวและเริ่มใช้กำลัง ความขัดแย้งซับซ้อนขึ้นเมื่อรัฐบาลอินเดียเข้ามามีส่วนในการเจรจาระหว่างชาวทมิฬและชาวสิงหล 1980 เกิดสงครามกลางเมืองเต็มรูปแบบ

แม้ว่ารัฐบาลอินเดียเข้ามาช่วยเจรจา แต่กลุ่มเยาวชนทมิฬไม่ยอมรับการเจรจา 1989 สงครามกลางเมืองรุนแรงขึ้นในพื้นที่ตอนเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ สงครามกลางเมืองที่เกิดขึ้นในระยะเวลา 30 ปี นำมาสู่ผลกระทบมหาศาล แม้ว่าสงครามกลางเมืองจะจบลง จากการที่กองทัพใช้กำลังเข้าปราบปรามกองกำลังในปี 2009 แต่ความขัดแย้งไม่ได้จบลงด้วย กลับเป็นการเคลื่อนจากระยะหนึ่งไปสู่อีกระยะหนึ่ง แม้ว่าผู้คนจะเริ่มกลับมาใช้ชีวิตอย่างปกติหลังจากสงครามกลางเมืองสิ้นสุด แต่ความปกตินั้นขึ้นอยู่กับว่าคุณเป็นคนกลุ่มไหน

ภาพเหล่านี้สะท้อนสาเหตุและพลวัตความขัดแย้ง ดังนี้ 1) การกระจายอำนาจที่ไม่เท่าเทียม และโครงสร้างการถือครองอำนาจทางการเมือง และการถือครองทรัพยากร ที่เอื้อประโยชน์ให้กับคนบางกลุ่ม 2) การแทรกแซงโดยการใช้ความรุนแรงจากกองทัพ 3) เมื่อขาดกลไกและหน่วยงานรับผิดชอบการสมานฉันท์ ทำให้บอกได้ยากว่าใครเป็นผู้รับผิดชอบต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้น 4) ประเด็นการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และ 5) การใช้ประทุษวาจาและการโจมตีชาวมุสลิมและชาวทมิฬในตอนเหนือ

การสร้างสันติภาพและการสมานฉันท์ในศรีลังกา

โดย Sarah Kirbir, 72 Documentary

ศรีลังกาเป็นประเทศที่มีความหลากหลายเป็นอย่างมาก และชาวศรีลังกามีโอกาสในการทำความเข้าใจและยอมรับความหลากหลายในช่วงหลังสงคราม อย่างไรก็ตามแนวคิดชาตินิยมระลอกใหม่ทำให้การทำความเข้าใจและยอมรับความหลากหลายเป็นไปได้ยาก เพราะได้แบ่งแยกและเบียดขับผู้คนออกไป มากกว่าที่จะยอมรับความหลากหลาย พร้อมทั้งมีความพยายามที่จะสร้างคุณค่าและสร้าง “ชาติ” ที่เป็นหนึ่งเดียวกัน แม้ว่าตอนนี้ไม่ได้มีเหตุการใช้ความรุนแรงในประเทศศรีลังกา แต่ศรีลังกายังต้องเรียนรู้อีกมากเพื่อสร้างสันติภาพเชิงบวก (positive peace)  เพื่อการยอมรับวัฒนธรรมที่หลากหลาย และสร้างความเป็นหนึ่งเดียวอย่างยั่งยืน

ตอนนี้ กระบวนการสร้างความสมานฉันท์ ถูกมองว่าเป็นกิจการของฝ่ายรัฐเพียงฝ่ายเดียว เพราะกระบวนการไม่ครอบคลุมผู้คน-ชุมชนที่เกี่ยวข้องในความขัดแย้ง โดยเฉพาะกลุ่มคนทางตอนเหนือ การสมานฉันท์จากรัฐบาลปิดกั้นโอกาสในการเรียนรู้ประสบการณ์ในอดีตที่หลากหลาย และขาดกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน ที่จะนำไปสู่ความเข้าอกเข้าใจระหว่างผู้คน นอกจากนี้ในระหว่างการระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 ทำให้ความขัดแย้งระหว่างศาสนาตึงเครียดยิ่งขึ้น เพราะรัฐบาลออกข้อกำหนดให้ต้องเผาศพผู้ที่เสียชีวิต

หน่วยงานภาคประชาสังคมได้เริ่มจัดทำฐานข้อมูลเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความทรงจำร่วม และภาครัฐได้ตั้งกลไกมาประสานงานด้านการสมานฉันท์ เพื่อรับมือกับปัญหาการแบ่งแยกและเลือกปฏิบัติ แต่ในปี 2019 พบว่าองค์กรเหล่านั้นถูกยุบไป ตอนนี้จึงเป็นความท้าทายในการสร้างความสมานฉันท์ เพราะยากที่จะบอกว่าหน่วยงานใดเป็นผู้รับผิดชอบในการสมานฉันท์

หนึ่งในวิธีที่ใช้กระบวนการสมานฉันท์ คือ กระบวนการเล่าเรื่อง (storytelling) ในฐานะเป็นพื้นที่ที่เหยื่อหรือผู้ก่อความรุนแรงได้เปล่งเสียงออกมา กระบวนการเล่าเรื่องเป็นเครื่องมือในการรับฟัง สร้างความเข้าใจ และเยียวยาชุมชน ตั้งแต่ปี 2015 “เรามีเสียงและเราต้องการถูกรับฟัง” เป็นคำที่สร้างแรงบันดาลใจให้ Sarah ในการเขียนหนังสือ Voices of Peace

หนังสือ Voices of Peace เป็นเครื่องมือที่ส่งเสียงมุ่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระดับนโยบาย และสนับสนุนกระบวนการสันติภาพ หนังสือบอกเล่าเรื่องราวจากการสัมภาษณ์ทหาร 10 คน และอดีตพยัคฆทมิฬ 10 คน หนังสือเล่มนี้คืนความเป็นมนุษย์ให้ผู้ที่อยู่ในความขัดแย้ง หลายๆ ครั้งเรามักตัดสินกันอย่างผิวเผิน แต่การได้ยินเรื่องราวของพวกเขาผ่านเรื่องเล่าพวกเขาแบ่งปันเรื่องส่วนตัว สาเหตุที่เข้ามา และความหวังต่ออนาคต เป็นการสร้างความเข้าอกเข้าใจมากกว่าที่จะแบ่งเขาแบ่งเรา และถามกลับกับตัวเองว่าหากเราอยู่ในสถานการณ์เช่นนั้น เราจะทำอย่างไร

ประเด็นที่เป็นความท้าทายในปัจจุบัน คือ ศรีลังกาขาดความเข้าใจเกี่ยวกับความเป็นชาติ หนังสือเรียนประวัติศาสตร์ไม่ได้กล่าวถึงช่วงเวลาสำคัญทางประวัติศาสตร์ ภารกิจหนึ่งของคนที่ทำงานด้านสันติภาพจึงต้องศึกษาข้อมูล เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ประวัติศาสตร์กระแสหลักและประวัติศาสตร์และอัตลักษณ์ของชุมชน นั่นจึงเป็นที่มาของการทำสารคดี เผยแพร่เรื่องราวที่ไม่ได้อยู่ในหนังสือเรียนประวัติศาสตร์ เพื่อสร้างพื้นที่ใหม่ ความทรงจำ วัฒนธรรมที่ทำให้เกิดการพูดคุยและเรียนรู้ เป็นการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเกิดสันติภาพ นอกจากนี้กระบวนการนี้ต้องได้รับความร่วมมือและคำสัญญาจากรัฐบาล เพื่อให้เกิดผลกระทบในวงกว้าง

การรายงานสถานการณ์ความขัดแย้งในศรีลังกา จากมุมมองสื่อ

โดย Arjuna Ranawana, EconomyNext.com

ด้วยพื้นเพที่เป็นชาวสิงหล และเติบโตมาในพื้นที่ที่ยอมรับความหลากหลาย ทำให้ความรุนแรงระหว่างชาติพันธุ์ เป็นเรื่องที่ “คิดไม่ถึง” สำหรับ Arjuna จนกระทั่งเหตุความรุนแรงปะทุขึ้นในปี 1977  ทำให้ Arjuna ตระหนักถึงความรุนแรงจากความไม่ลงรอยของชาติพันธุ์ ต่อมาได้เกิดความรุนแรงกับคนทมิฬมากยิ่งขึ้น

หน้าที่ของนักข่าวคือการสืบสวนและรายงานข้อเท็จจริง ทำให้พบว่ารัฐบาลมีส่วนในการยุยงปลุกปั่นและสร้างเงื่อนไขให้เกิดความขัดแย้ง นอกจากนี้สื่อยังเป็นสะท้อนภาพความขัดแย้ง และรายงานข่าวแตกต่างออกไป จากการศึกษาพฤติกรรมของสื่อ พบว่าสื่อที่ใช้ภาษาสิงหลเรียกกลุ่มชาวทมิฬว่าเป็นผู้ก่อการร้าย และกลุ่มทหารว่าเป็นวีรบุรุษ ขณะที่หนังสือพิมพ์ภาษาทมิฬต่อว่าและโจมตีกลุ่มทหาร หนังสือพิมพ์ที่ดูเป็นกลางที่สุดคือหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษ แต่ภายใต้สภาวะความขัดแย้งการรายงานข่าวเดียวกันก็บอกเล่าในคนละมุมมอง

ทำให้เห็นว่าพฤติกรรมของสื่อนั้นส่งผลอย่างมากต่อการรับรู้สถานการณ์ของผู้คนในศรีลังกา นอกจากนี้ยังพบว่าสื่อไม่มีความระวังไว (sensitive) ต่อความเจ็บปวดของผู้คน และสื่อก็ไม่สามารถรายงานข่าวอย่างเสรีภายใต้กฎหมายสถานการณ์ฉุกเฉิน เกิดกรณีเลือกเซนเซอร์บางอย่าง (selective censorship) เช่น เมื่อปี ค.ศ. 1981 มีการเผาห้องสมุดและทำร้ายชาวทมิฬ แต่สื่อถูกห้ามไม่ให้เผยแพร่กรณีดังกล่าวในเวลานั้น ในทางกลับกันหากมีการอนุญาตให้เผยแพร่กรณีดังกล่าว อาจทำให้เกิดความเห็นอกเห็นใจกันได้มากขึ้น

นอกจากนี้ในกระบวนการสมานฉันท์ ควรมีพื้นที่ในการเผยแพร่เสียงของคนที่มีส่วนในความขัดแย้ง แต่ไม่ใช่ผู้นำ อย่างที่หนังสือ Voices of Peace นำเสนอไป ในตอนนี้ศรีลังกาถูกแบ่งแยกด้วยผู้นำทางการเมือง กลุ่มคนที่พยายามขัดขวางกระบวนการสันติภาพ คือ กลุ่มคนที่ได้ประโยชน์จากการมีอยู่ของความขัดแย้งและสงครามกลางเมือง หน้าที่ของสื่อมวลชนคือการตีแผ่เรื่องราวเหล่านี้ และช่วยเผยแพร่เรื่องราวของคนที่มีส่วนในความขัดแย้งให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

อีกประการคือกลุ่มชาตินิยมสิงหล และกลุ่มชาตินิยมทมิฬ เบียดขับความหลากหลายอื่นๆ ออกไปด้วย นั่นเป็นสาเหตุที่เขาย้ายออกไป ความคิดชาตินิยมแบบนี้นี่เองทำให้เกิดการโจมตีชาวมุสลิม สิ่งที่สื่อควรนำเสนอคือภายใต้ความหลากหลายเหล่านี้ ชาวสิงหล และชาวมุสลิมต่างมีบางสิ่งร่วมกัน หากสื่อนำเสนอเฉพาะเรื่องที่ทำให้คนแตกแยกกัน ก็จะทำให้ศรีลังกาจะไม่สามารถก้าวไปสู่สันติภาพเชิงบวกได้

ถาม-ตอบ แลกเปลี่ยน

ในช่วงท้ายผู้เข้าร่วมได้สอบถามและแลกเปลี่ยนกับวิทยากรเพิ่มเติม โดยสรุปได้ ดังนี้

  • ศรีลังกาเผชิญกับความซับซ้อนทางเศรษฐกิจมาพักใหญ่แล้ว ผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 ทำให้แรงงานต่างชาติตกงาน และรายได้จากต่างประเทศก็ลดลง ส่งผลกับการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ภายในประเทศ แม้ว่าระหว่างการสมานฉันท์ใน 10 ปีที่ผ่านมามีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสมานฉันท์ การพัฒนาเศรษฐกิจอาจบรรเทาความขัดแย้ง แต่อาจต้องดูถึงโครงสร้างการเข้าถึงทรัพยากรและโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ที่ส่งผลต่อความขัดแย้งด้วย
  • ฝ่ายความมั่นคงเข้ามามีส่วนในชีวิตประจำวันของพลเรือน และกระบวนการต่างๆ ที่มากเกินไป นอกกจากนี้ฝ่ายความมั่นคงยังเป็นเจ้าของกิจการต่างๆ ในประเทศ การที่ฝ่ายความมั่นคงเลือกปฏิบัตินำไปสู่ความไม่เชื่อใจ และอาจนำไปสู่ความรุนแรงได้
  • สื่อควรนำเสนอข่าวตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ไม่เลือกปฏิบัติหรือเลือกนำเสนอ เพราะการทำอย่างนั้นยิ่งเป็นการตีตราให้กับผู้ที่มีความหลากหลายในสังคม แม้ว่ารัฐบาลจะมีหลักการในการนำเสนอข่าว แต่ในความเป็นจริงผู้รับสื่อมีส่วนร่วมในการตรวจสอบข้อมูลได้น้อย

กรณีการแปรเปลี่ยนความขัดแย้งที่น่าสนใจ คือ กรณีของประเทศเยอรมนี โดยมีหลักสำคัญคือ 1) ยอมรับความผิดพลาดในอดีต 2) ให้การศึกษาด้านประวัติศาสตร์กับเยาวชน และ 3) รัฐบาลต้องมีบทบาทและมีส่วนร่วมอย่างจริงจัง