DE

กระบวนการและการมีส่วนร่วม

Facilitation Workshop

“อะไรที่เกี่ยวกับทุกคน ย่อมต้องได้รับความเห็นชอบโดยทุกคน” เป็นหลักการของกฎหมายโรมัน ที่ยังคงหลักการมาจนถึงทุกวันนี้

มาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ให้กระบวนการออกกฎหมายต้องมีกระบวนการมีส่วนร่วมและรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง และวิเคราะห์ผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างรอบด้านและเป็นระบบ รวมทั้งเปิดเผยข้อคิดเห็นต่อประชาชน รวมถึงพัฒนากฎหมายเพื่อให้สอดคล้องกับสังคมและบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป นอกจากนี้ยังเป็นการให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้ร่วมตัดสินใจในประเด็น “ของประชาชน” (of people) ที่ “ทำโดยประชาชน” (by people) มากกว่าที่จะ “ทำเพื่อประชาชน” (for people) เพราะสุดท้ายแล้วการนำหลักการและกฎหมายไปปฏิบัติก็จะกลับมาส่งผลกับคนที่เกี่ยวข้องนั่นเอง

กระบวนการประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ (deliberative democracy) เป็นอีกแนวคิดที่จะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนและรับฟังความเห็นจากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ผ่านการอาศัยรูปแบบ เทคนิค กระบวนการในการจัดการรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้านในการอำนวยการประชุม เพื่อให้เกิดบรรยากาศแห่งการเรียนรู้ร่วมกัน สร้างความไว้วางใจระหว่างผู้มีส่วนเกี่ยวข้องให้สามารถแลกเปลี่ยน และแสดงความต้องการอย่างตรงไปตรงมา เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ในการรับฟังความคิดเห็นและสามารถวิเคราะห์ผลกระทบได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เทคนิค กระบวนการในการอำนวยการประชุมยังสามารถนำไปใช้ในการระดมความคิดเห็น หรือรับฟังความคิดเห็นในการขับเคลื่อนข้อเสนอเชิงนโยบาย จากหลากหลายมุมมอง

Facilitiation

ภาพวาดวงอ่างปลาแบบเปิด โดย Marcel van Hove เข้าถึงจาก mspguide.org หัวข้อ fish-bowl

หลักสูตรวุฒิบัตรการวิเคราะห์ผลกระทบในการตรากฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย สถาบันพระปกเกล้า เห็นถึงความสำคัญในการใช้เทคนิค-กระบวนการอำนวยการประชุมมาใช้ในการจัดการรับฟังความคิดเห็นแบบ “มีส่วนร่วม” จึงได้นำวิธี-เทคนิค-เครื่องมือ อย่าง วิธี Speed Dating, พื้นที่เสรี, กระบวนการเส้นเวลา, อ่างเลี้ยงปลา, สเปกตรัม และคาราวาน เป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตร โดยวิทยากรผู้มีประสบการณ์ ได้แก่ ดร. พิมพ์รภัช ดุษฏีอิสริยกุล ผู้จัดการโครงการ มูลนิธิฟรีดริช เนามัน ประเทศไทย, ดร. ชลัท ประเทืองรัตนา และ ดร. อภิญญา ดิสสะมาน นักวิชาการจากสถาบันพระปกเกล้า ที่แบ่งปันและถ่ายทอดวิธีการ และประสบการณ์ ให้กับผู้ที่มีบทบาทหน้าที่ในกระบวนการตรากฎหมาย จากทั้งหน่วยงานภาครัฐ พรรคการเมือง รวมถึงภาคเอกชนและภาคประชาชน ได้นำเทคนิค-วิธีการไปใช้ในการรับฟังความคิดเห็นต่อไป

Facilitiation

ภาพวาด การอำนวยการประชุมแบบคาราวาน

ยุทธศาสตร์การวางแผนจัดการน้ำ โครงการเจ้าพระยาเดลต้า 2040 โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ร่วมกับศูนย์วิจัยและพัฒนาวิศวกรรมปฐพีและฐานราก มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้จัดการประชุมสัมมนาผู้เชี่ยวชาญและรับฟังความเห็นอย่างต่อเนื่อง และเมื่อวันที่ 2 กันยายน ที่ผ่านมา ได้จับมือกับภาคส่วนที่หลากหลายในการขับเคลื่อนเวทีระดมความเห็นและจัดทำแผนยุทธศาสตร์ รวบรวมผู้เชี่ยวชาญ ผู้เกี่ยวข้อง ประชาชน จากหลายภาคส่วน หลายมุมมองให้มาวาดภาพฝันในการบริหารจัดการน้ำร่วมกัน โดยแบ่งผู้เข้าร่วมเป็น 4 กลุ่ม คือ กลุ่มเมืองใหญ่-เมืองขับเคลื่อนเศรษฐกิจ กลุ่มหัวเมือง-เมืองรอง กลุ่มพื้นที่ชนบท และกลุ่มเครื่องมือ และใช้กระบวนการรับฟังอย่างมีส่วนร่วมในการจัดเวทีรับฟัง-วางแผน เพื่อเชื่อมร้อยภาพทั้งหมดเป็นภาพฝันเดียว ที่มีหัวใจสำคัญคือ ความเท่าเทียมและการมีส่วนร่วมในการจัดการน้ำ ทั้งเจ้าพระยาเดลต้า และลุ่มน้ำอื่นๆ

วิธีการอำนวยการประชุม หรือ Facilitation นับได้ว่าเป็นแนวคิดและแนวปฏิบัติที่อยู่บนพื้นฐานของการมีส่วนร่วมที่เท่าเทียม ทำให้ข้อเสนอและการตัดสินใจนั้นไม่เพียงแต่เป็นไปเพื่อผู้ที่เกี่ยวข้อง แต่เป็นข้อเสนอและการตัดสินใจของผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยผู้ที่เกี่ยวข้อง ที่มาจากความต้องการของผู้ที่เกี่ยวข้องจริงๆ