DE

Defending the Open Societies program
ฟังเสียงสะท้อนจาก ธนิสรา เรืองเดช ถึงการเปิดโลกสู่ Open Society กับคำถามที่อยากชวนทั้งสังคมไทย หาคำตอบไปด้วยกัน

ธนิสรา เรืองเดช. CEO & Co-Founder at Punch Up. ผู้ร่วมก่อตั้ง Punch Up ศิษย์เก่าของมูลนิธิฟรีดิช เนามันน์ เพื่อเสรีภาพ ผู้ร่วมเดินทางไปอบรมแลกเปลี่ยนกับทางมูลนิธิในโครงการ Defending the Open Societies ของ International Academy for Leadership (IAF)
IAF: Eyes Wide Open

เราจะออกแบบสังคมยังไงให้ทุกคนที่แตกต่างอยู่ร่วมกันได้?

สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยและโลกทุกวันนี้ ทำให้เห็นแล้วว่าเราทุกคนต่างมีความคิดความเห็นเป็นของตัวเองและอาจแตกต่างกันในแต่ละเรื่อง การได้เป็นตัวของตัวเองสังคมที่ยอมรับและให้คุณค่ากับปัจเจกบุคคลจึงเป็นโลกที่หลายคนใฝ่ฝัน แต่การเดินทางไปสู่สังคมในฝันนั้น ความท้าทายน่าจะอยู่ที่เราจะออกแบบสังคมยังไงให้ทุกคนที่แตกต่างอยู่ร่วมกันได้? พร้อมคำถามที่ตามมาว่า สิ่งนั้นเป็นหน้าที่ของใคร กลุ่มคนที่เราเรียกว่า ‘รัฐ’ นักการเมืองที่เราเรียกว่าเป็น ‘ผู้แทน’ หรือควรจะเป็น ‘ตัวเรา’ ?

‘Open Society’ จึงเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่น่าค้นหาเพื่อตอบคำถามข้างต้น เพราะมันเป็นแนวคิดที่มุ่งเน้นเรื่องเสรีภาพและความรับผิดชอบของปัจเจกบุคคล การโอบรับความแตกต่างหลากหลาย และการสร้างกลไกที่เป็นธรรมในสังคมเพื่อให้อยู่ร่วมกันได้ แต่หากเราสะกิดชวนคนรอบตัวคุยกันเรื่อง ‘Open Society’ ในสังคมไทยตอนนี้ เราอาจจะถูกถามกลับว่า “มันคืออะไรนะ?” หรือบางทีแม้แต่ตัวเราเอง อาจยังมีคำถามเกี่ยวกับสิ่งนี้มากมาย

นั่นเป็นเหตุผลของการเดินทางไปร่วมโครงการ Defending the Open Societies ของ International Academy for Leadership (IAF) ที่รวมเอา Freedom Fighters จาก 20 กว่าประเทศทั่วโลกมาไว้ด้วยกันในช่วงเดือนกันยายน 2023 ที่ผ่านมา ด้วยความสงสัยว่า Open Society ในมุมมองของเสรีประชาธิปไตย (Liberal Democracy) แท้จริงเป็นอย่างไร เหตุใดนักเสรีนิยมหลายคนจึงให้คุณค่ากับแนวคิดนี้นัก

แม้สุดท้ายแล้ว การเดินทางครั้งนี้จะให้คำตอบหลายอย่าง แต่สิ่งที่ได้กลับมาพร้อมกันคือคำถามมากมาย ที่ชวนให้ทบทวนประเด็นต่างๆ ในบริบทสังคมไทยไปจนถึงสังคมโลก รวมถึงก้าวต่อๆ ไปที่เราจะพากันเดินไปสู่สังคมที่เราใฝ่ฝัน

Note: บทความนี้เป็นเพียงการบันทึกส่วนหนึ่งของความคิดจากการเดินทางของ ไม่อาจสะท้อนความเข้าใจเกี่ยวกับ Open Society ทั้งหมด เพราะนั่นอาจเป็นสิ่งที่พวกเราต้องเรียนรู้ร่วมกันต่อไป

 

IAF: Eyes Wide Open

เข้าใจสังคมเปิดผ่านคำถาม (ไม่ใช่คำตอบ)

เราอยากให้คุณลองหยิบกระดาษและปากกาขึ้นมา แล้ววาด ‘Open Society’ ในจินตนาการของคุณให้ดูหน่อย” ..คุณจะทำอะไรเป็นอย่างแรก หากได้รับโจทย์นี้

สิ่งที่กลุ่มของเราทำใน Academy คือการชวนกันคิดว่า เมื่อพูดถึง Open Society เรานึกถึงอะไรบ้าง เพื่อที่เราจะได้ตีความมันออกมาเป็นภาพได้ นี่คือจุดเริ่มต้นและรูปแบบของการเรียนรู้เรื่อง Open Society แบบ IAF

แม้ในช่วงสัปดาห์แรกจะถูกออกแบบให้เป็น ‘ชั้นเรียน’ ของการทำความเข้าใจมิติต่างๆ ของ Open Society ทั้งในมุมของการเมือง เศรษฐกิจ สังคมวัฒนธรรม หรือการพัฒนาองค์ความรู้ แต่มันไม่ใช่แค่การนั่งเรียนในห้อง หากแต่มีกิจกรรมที่หลากหลาย อย่างการอภิปรายกลุ่ม หรือจำลองดีเบต เพื่อให้เราเข้าใจและตีความแนวคิดและคุณค่าที่อาจจะจับต้องไม่ได้ (หรือคิดไปเองว่าเราเข้าใจ) มาลองใช้ในแต่ละสถานการณ์

มาลองคิดตามไปพร้อมกันก็ได้ หากคุณพอจะรู้ว่า สิ่งที่ Open Society ยึดเป็นคุณค่าหลักคือสิ่งเหล่านี้..

  • เสรีภาพของปัจเจกบุคคล (Individual Liberty)
  • การมีจิตสาธารณะและการมีส่วนร่วมของพลเมือง (Civic Responsibility)
  • การยอมรับความแตกต่างหลากหลาย (Pluralism) แม้เห็นต่างกัน (Tolerance)
  • หลักนิติธรรม (Rule of Law)
  • รัฐบาลที่มีอำนาจอันจำกัด (Limited Government)
  • เศรษฐกิจแบบตลาดเสรี (Free Market Economy)

คุณคิดอย่างไรกับประเด็นเหล่านี้ หากเราต้องการสร้างสังคมที่เป็น Open Society ในบริบทแบบไทยๆ ตามคุณค่าข้างต้น

  • หากเรามีสิทธิในร่างกายของเรา การขายอวัยวะควรเป็นเรื่องที่ทำได้ตามกฎหมายไหม?
  • หากเรายอมรับความแตกต่างหลากหลาย นักกีฬาข้ามเพศควรมีสิทธิในการแข่งขันกีฬาตามรายการทั่วไป โดยไม่มีข้อห้ามหรือข้อยกเว้นไหม?
  • หากเรามองว่า ประชาชนควรมีจิตสาธารณะและรัฐควรมีอำนาจจำกัด การมีรัฐสวัสดิการ จะทำให้คนมีความรับผิดชอบในสังคมลดลง และเลือกจะพึ่งพารัฐอย่างเดียวไหม?
  • การลงโทษทางสังคม (Social Sanction) เป็นกลไกหนึ่งของ Open Society ไหม? และทำได้ในระดับไหนถึงจะไม่กระทบต่อเสรีภาพของปัจเจกบุคคลที่เห็นต่าง?
  • นักการเมืองและรัฐ ควรมีอำนาจในแต่ละเรื่องขนาดไหนในสังคมแบบ Open Society?

สิ่งที่เกิดขึ้นใน Academy ตลอดโครงการ คือการถกถามและถกเถียงประเด็นต่างๆ ในสังคมตามตัวอย่างที่ให้ไปเหล่านี้ ซึ่งบางทีเราก็ถูกกำหนดให้อยู่ในกลุ่มที่ต้องพูดแทนความเห็นที่เราไม่เห็นด้วย ก็ท้าทายไปอีกแบบ

แน่นอนว่าเราทุกคนก็อาจไม่ได้มีคำตอบที่ชัดเจนที่สุดเพียงหนึ่งเดียวในแต่ละประเด็น เพราะการพูดคุยกัน ทำให้เรามองเห็นความคิดที่แตกต่างของเพื่อนร่วมชั้น ที่มาจากพื้นหลังที่หลากหลาย แต่สิ่งที่น่าตื่นเต้นกว่าการพยายามหาคำตอบให้คำถามเหล่านั้น คือการที่เราได้เรียนรู้ที่จะรับฟัง ตั้งคำถามกับความเห็นเหล่านั้น หรือแม้แต่ย้อนถามความคิดของตัวเอง การเรียนรู้ที่จะพูดคุย แม้หลายครั้งจะอยู่บนความไม่เห็นด้วย และยื่นความเห็นของเรากลับไปอย่างเคารพกัน เราว่ามันเป็นเสมือนการจำลอง Open Society ให้เกิดขึ้นที่นี่จริงๆ

แต่สิ่งที่น่าคิดต่อก็คือ.. หลังการเดินทางครั้งนี้ พวกเราที่ได้สัมผัสประสบการณ์จำลอง Open Society ณ ที่แห่งนี้ จะสามารถสร้างพื้นที่ในสังคมที่เราใช้ชีวิตอยู่จริงได้อย่างไร

 

IAF: Eyes Wide Open

ประชานิยม: ภัยคุกคามในชื่อเรียกของประชาธิปไตย

หลังจากทำความรู้จักกับ Open Society ได้ไม่เท่าไหร่ โครงการนี้ยังกดปุ่มเตือนภัยบอกเราว่ามีภัยคุกคามพื้นที่ที่เราสนใจจะเข้าไปค้นหาคำตอบอยู่ นั่นเป็นที่มาของชื่อโครงการ Defending the Open Societies

หาก Open Society คือการให้คุณค่ากับปัจเจกบุคคลและเปิดรับความแตกต่างหลากหลาย สิ่งที่เป็นภัยคุกคามก็ดูน่าจะเป็นคู่ตรงข้ามอย่างการลดทอนคุณค่าความคิดแบบปัจเจก และการกีดกันความแตกต่าง ซึ่งก็เป็นแนวคิดแบบเผด็จการและอำนาจนิยม

ซึ่งก็เป็นเช่นนั้นจริง แต่ในยุคที่หลายๆ สังคมเริ่มตื่นรู้และเสียงของปัจเจกเริ่มดังขึ้น ศัตรูของ Open Society ก็เรียนรู้ที่จะปรับตัวและแปลงร่างเป็นภัยคุกคามในชื่อเรียกของประชาธิปไตยแบบ ‘Populism’ หรือ ‘Illiberal Democracy’ (ซึ่งแปลเป็นไทยน่าจะเรียกว่า ‘ประชานิยม’) คำนี้ไม่ใช่คำใหม่ในสังคมไทย แต่ที่ผ่านมาถูกหยิบมาใช้ในบริบทที่หลากหลาย จนหลายคนสับสนไปหมด

แน่นอนว่า Academy นี้ก็ไม่ได้ยื่น Textbook ให้เราอ่านเพื่อเข้าใจ แต่เริ่มด้วยการให้เราทดลองไล่ชื่อของคนที่เราเรียกได้ว่าเป็น ‘ผู้นำประชานิยม’ (Populist Leaders) มาดูกัน (ลองคิดตามตอนนี้ก็ได้นะ) และพาเราผ่านกระบวนการเรียนรู้ลักษณะ (Characters) ของ Populism ผ่านการจำลองดีเบตและการพูดคุยในวงย่อยๆ อีกเช่นเคย

เมื่อสรุปจากกระบวนการเรียนรู้แล้วนั้น Populism จะมีลักษณะประมาณนี้

  • ปฏิเสธความหลากหลาย (Anti-Pluralism) อ้างว่าพวกเราเท่านั้นที่เป็นตัวแทนของประชาชน และรู้ดีว่าแท้จริงแล้วประชาชนต้องการอะไร
  • อ้างว่าพูดแทนประชาชนในประเทศทั้งหมด (The People) และหากมีคนเห็นต่าง ก็เป็นเพราะขาดความชอบธรรมจนไม่ควรรับฟัง
  • ยึดผู้นำสูงสุดเพียงคนเดียว (Leader-Focused) เน้นตัวบุคคลมากกว่าสถาบันหรือแนวคิดทางการเมือง
  • อ้างว่าต่อต้านชนชั้นนำ (Elites) แต่บางทีก็เป็นชนชั้นนำขั้วตรงข้ามที่อยากขึ้นมามีอำนาจ
  • พยายามใช้เครื่องมือให้ประชาชนมีส่วนร่วม อย่างการเลือกตั้ง เพื่อบรรลุเป้าหมาย แต่อาจเปลี่ยนแนวทางหลังได้อำนาจมาแล้ว
  • ลดทอนคุณค่าของสถาบันตัวกลาง เน้นการสื่อสารโดยตรงกับประชาชน
  • ใช้การแบ่งเขา-แบ่งเรา (Us against Them) เป็นเทคนิคในการปกครองตลอดเวลา
  • Populism อาจเกิดขึ้นได้ในสเปกตรัมทางการเมืองทุกแบบ

พอเห็นลิสต์นี้แล้ว คุณคิดถึงใครหรืออะไรในสังคมไทยที่มีลักษณะแบบนี้บ้าง?

การหาเสียงก่อนการเลือกตั้ง ที่วาทกรรม “ไม่เลือกเรา เขามาแน่” กลับมาเป็นเส้นเรื่องหลักในแคมเปญของหลายๆ พรรคนั้นใช่ไหม? หรือการตอบโต้ระหว่างกันของ ‘ด้อมการเมือง’ ต่างๆ ที่อาจสะท้อนการผลักให้คนที่เห็นไม่ต่างแม้แต่นิดเดียวออกจากกลุ่มเข้าข่ายหรือเปล่า? แล้วนโยบายเศรษฐกิจของหลายพรรค ที่มุ่งเอาใจประชาชนแต่ไม่รู้จะทำได้จริงแค่ไหนล่ะ? ไปจนถึงการมีอยู่ของหลายสถาบันที่ชี้นำทิศทางของสังคมผ่านความชอบธรรมของผู้นำที่สร้างขึ้นและกีดกันคนที่เห็นต่าง เหล่านี้คือ Populism ในสังคมไทยหรือไม่?

คำถามต่อมาคือ แล้ว Populism น่ากลัวตรงไหน? ก็ดูเป็นสไตล์การเมืองที่เราออกจะคุ้นเคยในหลายสังคม (และใช่.. สังคมไทย) ไม่ใช่เหรอ?

สิ่งที่น่ากังวลคือประชานิยมที่อยู่ในอำนาจทำให้เกิดการกีดกันและยึดครองรัฐ ผ่านข้ออ้างที่สร้างความชอบธรรมภายใต้ชื่อของประชาธิปไตย แต่แท้จริงแล้วเป็นการหลอกใช้อำนาจของประชาชนเพื่อสร้างการแบ่งแยก (Polarization) ในสังคม และการลดทอนคุณค่าของคนกลุ่มน้อยที่เห็นต่าง บางครั้งอาจส่งผลต่อความบิดเบี้ยวของหลักนิติธรรมและการทำงานของตัวกลางที่คอยตรวจสอบอย่างสื่อมวลชน องค์กรอิสระ และภาคประชาสังคม จนเป็นไปได้ว่าเราอาจจะถอยหลังกลับไปสู่สังคมปิด (Closed Society) ในคราบของประชาธิปไตยโดยไม่รู้ตัว

ดังนั้น การทำความรู้จักและช่วยกันวิเคราะห์ Populism เพื่อเข้าใจและตระหนักรู้ถึงการมีอยู่ในสังคม จึงเป็นก้าวแรกที่สำคัญที่จะทำให้เรารับมือและตั้งคำถามกับวาทกรรมเหล่านั้นได้ รวมถึงเพื่อไม่ให้เป็นการแปะป้ายใครอย่างเกลื่อนกลาด

 

 

IAF: Eyes Wide Open

Dresden Weimar และบทสนทนาระหว่างทาง

นอกจากชีวิตใน Academy แล้ว IAF Program ยังเปิดโอกาสให้เราได้ไปสัมผัสประสบการณ์ตรงผ่านการไปเยี่ยมชมสถานที่ต่างๆ ในเยอรมนีตะวันออก (Dresden และ Weimar) ที่เคยผ่านการเป็นสังคมปิดมาก่อน

อย่างเช่นการไป ‘Stasi Museum’ หลังจากดูภาพยนตร์เรื่อง ‘The Lives of Other’ เพื่อให้เห็นว่าหลักฐานแบบละเอียดยิบว่าปฏิบัติการเหล่านี้เคยเกิดขึ้นจริงในยุคก่อนรวมชาติเยอรมันที่สิทธิเสรีภาพของประชาชนถูกกำกับโดยรัฐ ซึ่งคอยสอดส่องและเฝ้าระวังทุกบทสนทนาและทุกการกระทำที่อาจเป็นภัยต่อระบอบสังคมนิยมนั้นน่ากดดันและหดหู่เพียงใด หรือการไปดูค่ายกักกัน Buchenwald ยิ่งสะท้อนให้เห็นว่าสังคมที่กีดกันความแตกต่างและความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นทางเชื้อชาติ ศาสนา ชีววิทยา หรือรสนิยม สามารถนำไปสู่การลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์และความอยุติธรรมในสังคม ยิ่งทำให้เรารู้สึกว่าแนวโน้มในการพาสังคมถอยหลังกลับไปสู่สังคมแบบปิดนั้น เป็นเรื่องที่น่ากลัวจนไม่อาจยินยอมให้เกิดขึ้นอีก

นอกเหนือจากการเรียนรู้ผ่านสถานที่ภายนอกโดยตรง การเดินทางร่วมกับเพื่อนร่วมชั้น ยังเปิดโอกาสให้เราได้แลกเปลี่ยนบทสนทนาทั้งเกี่ยวกับเรื่องในชั้นเรียน เรื่องที่เราได้เจอนอกห้องเรียน เรื่องที่เกิดขึ้นในแต่ละมุมโลก หรือแม้แต่เรื่องในชีวิตประจำวันของแต่ละคน ซึ่งทั้งหมดนี้ก็เป็นอีกส่วนที่ทำให้รู้สึกได้ว่า การเดินทางไปเข้าร่วมโครงการนี้ เป็นการย้ำเตือนเราว่าโลกใบนี้มีความแตกต่างหลายหลาย ยังมีอีกหลายเรื่องที่เราไม่เคยเรียนรู้และอาจมีอีกหลายความคิดเห็นที่เราไม่เคยยอมรับ

 

IAF: Eyes Wide Open

เมื่อประตูกำลังจะปิด..

คงไม่มีใครอยากอยู่ในสังคมที่เราไม่อาจคิดและเป็นตัวของตัวเอง หรือการเห็นต่างของเรานั้นถูกมองเป็นความผิดอันร้ายแรง แต่หากถอยมามองสังคมไทยในเวลานี้ เราอาจจะตกใจที่เหมือนว่าเรากำลังเดินทางไปสู่สังคมที่เราไม่อยากเห็นโดยไม่รู้ตัว และถ้าถอยไปไกลกว่านั้น หลายประเทศในโลกก็อาจกำลังเดินอยู่บนเส้นทางเดียวกันก็ได้ การเดินทางไปเพื่อพยายามทำความเข้าใจ Open Society ครั้งนี้ ทำให้เชื่อมั่นมากขึ้นว่า Open Society เป็นพื้นที่ที่น่าค้นหา และน่าจะเป็นรูปแบบสังคมที่ใครหลายคนอยากอยู่ แต่บอกตามตรงว่าการจะสร้างสังคมแบบนี้ขึ้นมาดูจะไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องอาศัยทั้งความเข้าใจ ความช่างสงสัย ความรับผิดชอบ และความเคารพในเสรีภาพและความแตกต่างของทั้งปัจเจกบุคคลและสถาบันต่างๆ ร่วมกัน แต่ไม่ง่าย ก็ไม่ได้แปลว่าเป็นไปไม่ได้ และเชื่อว่าสำหรับ Freedom Fighters ที่มาร่วมเดินทางกันในครั้งนี้ พวกเราต่างกำลังออกเดินทางไปต่อบนเส้นทางที่อาจจะไม่ง่ายนั้น เพื่อสร้างสังคมที่พวกเราอยากเห็นร่วมกันในแต่ละมุมโลก แม้การเดินทางไปร่วมโครงการนี้จะจบลงแล้วก็ตาม

IAF: Eyes Wide Open