DE

เล่าเรื่องด้วยข้อมูล - ค้นหา ออกแบบ และการสื่อสารเพื่อการมีส่วนร่วม

Data Visualization
© Photo by Sai Kiran Anagani on Unsplash

เราน่าจะเคยทำ Mind Mapping หรือ แผนภาพความคิดในการสรุปบทเรียนกันอยู่บ้าง Mind Mapping เป็นอีกรูปแบบที่นำข้อมูลต่างๆ มาย่อยและนำเสนอให้เข้าใจง่าย เป็นการเล่าเรื่องด้วยข้อมูล หรือ Data Storytelling อีกแบบ เมื่อช่วงที่ผ่านมา มีการหยิบจับข้อมูลเปิด (Open Data) มาประมวลผลและออกแบบการนำเสนออย่างน่าสนใจผ่านช่องทางต่างๆ และสื่อสารกับสังคมในวงกว้าง จาก ELECT เทคโนโลยีภาคประชาชนเพื่อประชาธิปไตยไทย นำข้อมูล ทั้งสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต และสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน มาร้อยเรียงเป็นเรื่องราว ทำให้เกิดการตื่นตัวและสร้างการมีส่วนร่วมในสังคม เมื่อ ELECT ได้พบกับ Digital4Peace ที่ขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อสันติภาพ จึงมาสู่การจัดเวิร์คช็อป Data Storytelling ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้  โดยทีม Digital4Peace ได้ชวนสื่อ ภาคประชาสังคม ภาควิชาการมาลองเรียนรู้การเล่าเรื่องด้วยข้อมูล

ทำไมต้องเล่าเรื่องด้วยข้อมูล?

การเล่าเรื่องด้วยข้อมูล เป็นการนำข้อมูลมาผ่านเครื่องมือและกระบวนการแปลงข้อมูลเป็นภาพ หรือทำให้เห็นภาพ ให้คนดูเข้าใจข้อมูล สนุกไปกับการอ่านข้อมูลนำไปสู่การสร้างความรู้สึกร่วมหรือสร้างความเปลี่ยนแปลงได้

“แต่ไม่ใช่ทุกคนและทุกเรื่องที่จะเหมาะกับการใช้ Data Storytelling และ Data Storytelling ก็ไม่จำเป็นต้องอยู่แค่บนเว็บไซต์” กุ๊งกิ๊ง ธนิสรา เรืองเดช จาก ELECT เล่า

Data Storytelling

องค์ประกอบของการเล่าเรื่องด้วยข้อมูล จาก ELECT

เริ่มตั้งแต่การออกแบบการสื่อสาร

หัวใจของการเล่าเรื่องด้วยข้อมูลไม่ใช่แค่การทำข้อมูลเป็นภาพ แต่เริ่มตั้งแต่การออกแบบการสื่อสารให้สำเร็จ

SMAC Model สำรวจองค์ประกอบของการสื่อสารหลัก ตั้งแต่ผู้ส่งสาร (Sender) สาร (Message) ผู้รับสาร (Audience) และ ช่องทางการสื่อสาร (Channel) แต่ละองค์ประกอบมีคุณค่าอื่นๆ ที่ต้องคำนึงถึงเมื่อต้องออกแบบการสื่อสารให้สารถูกสื่อออกไปได้สำเร็จ

“ถ้าเราสื่อสารกับคนทั่วไป เราไม่ได้สื่อสารกับใครเลย...กำหนดกลุ่มเป้าหมายหลัก (primary target audience) แล้วคนรอบๆ ถือว่าเป็นกำไร”

หลัก 3Cs ประกอบด้วย Chunking (แบ่งส่วน) Common (สร้างความคุ้นเคย) และ Context (เปรียบเทียบให้เข้ากับความเข้าใจ)

“อย่าพยายามใส่ข้อมูลลงไปทั้งหมดทั้งก้อน คิดว่าอยากนำเสนอเรื่องอะไร แล้วใส่ทีละเรื่อง ให้คิดถึงซีรี่ย์เกาหลีที่ต้องแบ่งเป็นตอนๆ ไม่ใช่หนังยาว 16 ชั่วโมง”

นอกจากนี้ การกำหนดกลุ่มเป้าหมายจาก SMAC Model ยังกลับมามีส่วนในการออกแบบ Context ที่จะนำเสนอ เพราะบางครั้งผู้รับสารไม่เห็นภาพและไม่เข้าใจสิ่งที่นำเสนอ การนำข้อมูลที่นำเสนอมาปรับให้เข้ากับบริบท ให้ผู้รับสารเข้าใจ และนำไปสู่ผลบางอย่าง “อย่างเช่นเมื่อตอนกรณีเด็กๆ ติดอยู่ในถ้ำหลวง คนที่อยู่กรุงเทพฯ ไม่รู้ว่าระยะทาง 3 กิโลเมตร 8 กิโลเมตรในถ้ำคือเท่าไหร่ ก็มีการเปรียบเทียบระยะทางกับสถานีรถไฟฟ้าเพื่อให้เห็นภาพและเข้าใจมากขึ้น” กุ๊งกิ๊งเล่า

Data Storytelling

เตรียมข้อมูลให้พร้อมเอาไปเล่า

ข้อมูลเป็นสารตั้งต้นสำคัญในการเล่าเรื่องด้วยข้อมูล โจ้ ดร. ภูริพันธุ์ รุจิขจร จาก ELECT พาไปรู้จักข้อมูล แหล่งข้อมูล รูปแบบและชนิดของข้อมูล แต่ข้อมูลที่ค้นหาได้ยังไม่เป็นระเบียบ อาจมีความทับซ้อนกัน และยังไม่พร้อมนำไปใช้ประมวลผลต่อ จึงต้องมีการทำความสะอาดข้อมูล หรือจัดระเบียบข้อมูลโดยใช้เครื่องมือต่างๆ เช่น Microsoft Excel, Google Sheets, R, SPSS, OpenRefine เป็นต้น

นอกจากรู้จักข้อมูล แหล่งข้อมูล เครื่องมือต่างๆ แล้ว ผู้เข้าร่วมยังได้ลองค้นหาข้อมูลในแหล่งต่างๆ และใช้เครื่องมือทำความสะอาดอย่าง RAWGraphs, Datawrapper, หรือ Flourish เพื่อแปลงข้อมูลให้เป็นรูปภาพและสื่อสารแก่กลุ่มเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ

Data Storytelling

ตัวอย่างการนำข้อมูลมาแปลงเป็นภาพเพื่อนำเสนอ จาก ELECT

แปลงข้อมูลให้เป็นภาพ

แม้ข้อมูลจะถูกจัดให้เป็นระเบียบแล้ว แต่การนำเสนอตารางขนาดใหญ่ที่เต็มไปด้วยตัวอักษรไม่น่าจะทำให้คนมาสนใจ “ข้อมูล” ที่เราอยากนำเสนอ การแปลงข้อมูลให้ผู้รับสาร “เห็นภาพ” นั้นจึงมีประสิทธิภาพ สามารถสร้างความสนใจจากความหนักแน่นของข้อมูล

การแปลงข้อมูลให้เป็นภาพ ต้องคิดถึง สัดส่วนของข้อมูล ประเภทของข้อมูล ว่าสามารถสื่อสารได้เหมาะสมหรือไม่ ดร. ภูริพันธุ์ยังเน้นเรื่องรูปแบบของกราฟหรือชาร์ตที่ใช้ในการนำเสนอว่าต้องระวังเรื่องมิติและการจัดวางเพื่อป้องกันการสื่อสารที่ผิดพลาดจากทำความสะอาดข้อมูล

เล่าเรื่องด้วยข้อมูลให้คนอิน

แค่การเปลี่ยนข้อมูลเป็นภาพอาจยังไม่พอในการสร้างผลกระทบในสังคม ย้อนกลับไปที่กุญแจหลักของการเล่าเรื่อง ที่สเวน เกอร์ส ได้เสนอศาสตร์แห่งการเล่าเรื่อง โดยใช้ Golden Circle หรือ วงกลมทองคำ คือ การเริ่มจาก “ทำไม” เราถึงทำสิ่งที่เราทำอยู่ อะไรเป็นแรงบันดาลใจ ไอเดียที่ง่าย และค่อยๆ ฉายภาพการเปลี่ยนแปลง เราทำ “อย่างไร” จึงมาถึงการเปลี่ยนแปลงนี้ แล้วจึงเล่าว่าเราทำ “อะไร” จะมีส่วนสร้างความสนใจ และทำให้คนอินข้อมูลที่เรานำเสนอ

การแปลงข้อมูลมาเป็นเรื่องเล่า ต้องทำความเข้าใจข้อมูล และมีวัตถุประสงค์ที่แน่ชัดในการเล่าเรื่อง (ทำไม) จากนั้นเลือกและจัดลำดับความสำคัญข้อมูลที่จะเสนอ และออกแบบการเสนอที่เข้าใจได้ง่ายและเร็ว (อย่างไร) แล้วจึงกลับมาดูความสวยงามและบรรยากาศในการนำเสนอ (อะไร) ในช่วงการเลือกและการออกแบบการนำเสนอต้องอาศัยการกลับไปทบทวนหลัก 3Cs ในการแบ่งส่วนข้อมูลและคิดถึงการเปรียบเทียบข้อมูลให้เข้าใจได้ นอกจากนี้การสร้างบรรยากาศในการรับรู้ผ่านฟ้อนต์อักษร สี ไอคอนต่างๆ ก็มีส่วนในการสื่อสาร สร้างภาพจำของผู้เล่าเรื่องอีกด้วย

ลงมือเล่าเรื่อง

ผู้เข้าร่วมจากภาคส่วนต่างๆ ทั้ง สื่อ ภาคประชาสังคม ภาควิชาการ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ได้ลองออกแบบการเล่าเรื่องด้วยข้อมูล ในประเด็นต่างๆ ทั้งประเด็นสิ่งแวดล้อม (ต้นแบบการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมจะนะ จำนวนและประเภทสัตว์น้ำในอ่าวปัตตานี) ประเด็นการด้านการศึกษา (คะแนนเฉลี่ย O-Net) ประเด็นทางสังคมและสุขภาพ (สารอาหารจากผลไม้ ผู้หญิงที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ชายแดนใต้ การรณรงค์ลด-เลิกการสูบบุหรี่) ผู้เข้าร่วมได้เป็นทั้งผู้นำเสนอและเป็นผู้ให้ความเห็นเพื่อปรับปรุงการนำเสนอต่อไป