DE

8 องค์กรผนึกพลัง ลงนามร่วมประกาศปฏิญญารวมพลังขับเคลื่อน ต่อต้านข่าวลวงข่าวปลอม

เดินหน้าจัดงานเสวนาแลกเปลี่ยนบทเรียนระหว่างประเทศ “International Conference on Fake News”
Fake News Alert

ด้วยสถานการณ์การแพร่กระจายของข่าวลวงข่าวปลอม ที่เป็นประเด็นท้าทายในระดับนานาชาติ ประกอบกับบทบาทในการสนับสนุนให้เกิดการมีส่วนร่วม การส่งเสริมสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ รวมถึงผลักดันการรู้เท่าทันสื่อ และสนับสนุนองค์ความรู้ในการใช้สื่อ และพฤติกรรมการสื่อสารของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จึงเป็นที่มาของความร่วมมือระหว่างองค์กรวิชาการ และองค์กรวิชาชีพ ได้แก่ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ มูลนิธิฟรีดริช เนามัน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ไทย พีบีเอส) คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ ในการผนึกกำลังขับเคลื่อนการต่อต้านข่าวลวงข่าวปลอม และร่วมประกาศปฏิญญาต่อต้านข่าวลวงข่าวปลอม ในวันที่ 11 มิถุนายน 2562

Fake News Alert

คุณวสันต์ ภัยหลีกลี้ ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ได้กล่าวถึงสถานการณ์และสาเหตุของข่าวลวงข่าวปลอมที่เกิดขึ้นทั่วโลก อันมีที่มาจากการพัฒนาการสื่อสารบนโลกออนไลน์ ทำให้ในปัจจุบันทุกคนสามารถเป็นสื่อเองได้ ในอดีตสื่อมวลชนอาชีพที่ทำหน้าที่คัดกรองข้อมูลข่าวสารก่อนที่จะนำเสนอหรือเผยแพร่ ขณะที่ปัจจุบันทุกคนต้องทำหน้าที่กรองและพิจารณาข่าวกันเอง สถานการณ์ดังกล่าวทำให้บางข้อมูลขาดการตรวจสอบข้อเท็จจริง และถูกเผยแพร่ออกไปจนส่งผลกระทบในวงกว้าง ข่าวลวงข่าวปลอมจึงกลายเป็นปรากฎการณ์ของยุคดดิจิทัลที่เกิดขึ้นทั่วโลก นี่จึงเป็นที่มาของการรวมพลังระหว่างเครือข่าย และช่วยกันสร้างกลไกการรับมือ การตรวจสอบข่าวลวงข่าวปลอม รวมถึงสร้างวัฒนธรรมในการตรวจสอบข้อมูลข้อเท็จจริงก่อนเผยแพร่ การร่วมมือระหว่าง 8 องค์กรมีวัตถุประสงค์ เพื่อเสริมพลังและสนับสนุนการทำงานระหว่างภาคีในการส่งเสริมการรู้เท่าทัน และมีส่วนร่วมในการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ภายใต้ระบบนิเวศน์สื่อที่ดี

โดยองค์กรภาคีได้ร่วมกันจัดเวทีนานาชาติว่าด้วยข่าวลวงข่าวปลอม (International Conference on Fake News) ในวันที่ 17 มิถุนายน 2562 ซึ่งได้รวบรวมผู้แทนจากองค์กรภาคีเครือข่าย ทั้งใน และต่างประเทศ เช่น รัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลจากไต้หวัน นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยฮ่องกง ผู้ขับเคลื่อนนโยบายจากพรรคเสรีประชาธิปไตยของเยอรมัน และผู้แทนจากสำนักข่าวรอยเตอร์ และเอเอฟพี ร่วมเสวนาแนวทางและบทเรียนในการรับมือข่าวลวงข่าวปลอม

ก่อนการร่วมลงนามในปฏิญญาต่อต้านข่าวลวงข่าวปลอมโดยองค์กรภาคี ได้มีช่วงเสวนา “รวมพลังขับเคลื่อนต่อต้านข่าวลวงข่าวปลอม” ดำเนินรายการโดย คุณสุภิญญา กลางณรงค์ รับฟังและแลกเปลี่ยนถึงแนวคิด และแนวทางจัดการข่าวลวงข่าวปลอมจากหลากหลายมุมมองของภาคี

Fake News Alert

ผศ. ดร. พิจิตรา สึคาโมโต อาจารย์คณะนิเทศน์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เล่าถึงภาควิชาการที่สนับสนุนงานวิจัยที่ได้ศึกษาด้านข่าวลือข่าวลวง ซึ่งในปัจจุบันทั่วโลกได้ตระหนักถึงประเด็นข่าวลือข่าวลวง ตัวอย่างคือกรรมาธิการยุโรป (European Commission) ได้ออกแนวปฏิบัติในการรายงานข่าวและลดการแพร่กระจายของข่าว ด้วยการสื่อสารที่เชื่อมต่อแบบเว็บ ทำให้เกิดการแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว ไม่มีวันหายไป และอาจกลับมาแพร่กระจายอีกเมื่อไหร่ก็ได้ งานวิจัยได้ระบุถึงว่ามีความอ่อนไหวในการรับข่าวสาร โดยเฉพาะในช่วงเลือกตั้ง เพราะการรับรู้ส่งผลต่อการตัดสินใจทางการเมืองอย่างมาก นอกจากนี้จากงานวิจัยได้ค้นพบต่อว่าเมื่อมีการเผยแพร่ข่าวลือข่าวลวงออกไป ผู้รับจะตรวจสอบข่าวจากสำนักข่าวที่น่าเชื่อถือ ทำให้เกิดความร่วมมือระหว่างภาคีในการสนับสนุนพื้นที่ในการตรวจสอบข้อเท็จจริง นอกจากนี้ในส่วนของพื้นที่ออนไลน์ก็ได้มีข้อกำหนดร่วม เพื่อลดการแพร่กระจายของข่าวลือข่าวลวง

คุณก้าวโรจน์ สุตาภักดี นายกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ ได้เล่าถึงกลไกและบทบาทขององค์กรในการตรวจสอบข้อเท็จจริงให้กับสังคม และยังเล่าต่อไปว่าข่าวลวงถูกผลิตขึ้นอย่างมีวัตถุประสงค์ ด้วยพื้นที่และธรรมชาติในการสร้างเนื้อหาที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้แม้แต่ผู้ผลิตข่าวอาชีพก็ตกเป็นเหยื่อของข่าวลวงได้ อย่างไรก็ตามแม้ว่าจะเกิดปรากฏการณ์ข่าวลวงข่าวปลอมขึ้นมาก สำนักข่าวหลักก็ยังคงเป็นช่องทางในการตรวจสอบข้อมูลข้อเท็จจริง ดังนั้นจึงเห็นว่าแนวทางในการจัดการกับข่าวลวงข่าวปลอมต้องร่วมกันขับเคลื่อนทั้งองคาพยพ ทั้งผู้ส่งสาร สื่อ และผู้รับสาร นอกจากนี้คุณก้าวโรจน์ได้แลกเปลี่ยนถึงแนวทางในการจัดการในภูมิภาคอาเซียน เช่น มีหลักสูตรที่เปิดให้ประชาชนได้ดาวน์โหลดเพื่อส่งเสริมการรู้เท่าทันสื่อในองค์รวม

คุณจักรกฤษณ์ เพิ่มพูล องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย กล่าวถึงปรากฏการณ์ข่าวลวงข่าวปลอมว่าเป็นไวรัสแห่งวารสารศาสตร์ ที่แพร่กระจายอย่างรวดเร็ว ซึ่งปะปนกันทั้งข้อเท็จจริง และข้อคิดเห็น นอกจากส่วนเนื้อหาที่เป็นที่ถกเถียงแล้ว ผู้สร้างเนื้อหาก็เป็นประเด็นที่ถกเถียงถึงจริยธรรมวิชาชีพและจรรยาบรรณในการเป็นสื่อ รวมถึงบทบาทในการตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนนำเสนออย่างถี่ถ้วน แม้ว่าข่าวลวงข่าวปลอมจะเกิดจากผู้ใช้สื่อส่วนมาก แต่สื่อมวลชนอาชีพก็มีส่วนในการแพร่กระจายของข่าวลวงข่าวปลอม ผ่านการส่งต่อและอ้างถึงแหล่งข่าว ด้วยการไหลเวียนของข้อมูลจำนวนมหาศาลทำให้มีคนจำนวนมากที่เผยแพร่และเข้าใจว่านั่นคือสื่อมวลชน แต่แท้จริงแล้วสื่อมวลชนต้องมีหลักการในการทำงาน และต้องตรวจสอบเนื้อหาที่นำเสนอให้ถูกต้องและรอบด้าน รวมถึงมีการตรวจสอบแหล่งที่มาอ้างอิงก่อนนำเสนอ  

Fake News Alert

ในช่วงท้าย คุณสุภิญญา กลางณรงค์ ได้สรุปภาพรวมสถานการณ์และการรับมือข่าวลวงข่าวปลอมจากหลากมุมมองบนเวที ถึงแนวทางการรับมือว่าต้องเป็นไปอย่างร่วมมือ ไม่สามารถให้เพียงภาคส่วนใดภาคส่วนหนึ่งรับผิดชอบได้ และได้นำเสนอสถิติ ว่ามีคนไทยจำนวนกว่า 50 เปอร์เซนต์ เชื่อข้อมูลและเนื้อหาบนโลกออนไลน์ในทันที รวมถึงแลกเปลี่ยนถึงแนวคิดถึงการป้องกันการแพร่กระจายของข่าวลวงข่าวปลอม ทำได้โดยการสร้างวัฒนธรรมการตรวจสอบข้อมูลก่อนส่งต่อ นอกจากนี้คุณสุภิญญาได้ตั้งข้อสังเกตถึงการแพร่กระจายของข่าวลวงข่าวปลอม ว่าอาจเกิดจากการส่งต่อเนื้อหา ข้อมูลที่ถูกใจ แม้จะรับรู้อยู่บ้างว่าอาจไม่ใช่ข่าวจริง

ผศ. ดร. พิจิตรา ได้เสริมประเด็นแนวทางการรับมือว่าการรับมือข่าวลวงข่าวปลอมโดยการกำกับดูแลจากภาครัฐไม่สามารถทำได้โดยสมบูรณ์ แต่ต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างเครือข่ายในการทำสิ่งที่ดูเป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้ขึ้นมา ขณะที่คุณก้าวโรนจ์ได้เสริมถึงช่องทางและพฤติกรรมในการส่งต่อและรับเข้าข้อมูลข่าวสาร และปัญหาที่เกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่ก็แตกต่างกันออกไป คุณจักรกฤษณ์ยังคงเน้นย้ำถึงหลักการตรวจสอบข้อมูลก่อนเผยแพร่ และปรับพฤติกรรมการรับและส่งต่อข่าว เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนต่อต้านข่าวลวงข่าวปลอมอย่างมีส่วนร่วม

 

8 องค์กรภาคีร่วมขับเคลื่อนการต่อต้านข่าวลวงข่าวปลอม

  1. กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
  2. สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ
  3. มูลนิธิฟรีดริช เนามัน
  4. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
  5. องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย
  6. คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  7. คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  8. สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์