DE

โลกหลังโควิด-19 ฉายภาพอนาคตประเทศไทย (จากเวทีเสวนา)

โดย วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่นมหาวิทยาลัยขอนแก่น

นับเป็นเวลาร่วม 2 เดือนจากการประกาศมาตรการปิดเมืองเพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า 2019 หลายกิจกรรมต้องหยุดชะงักไปในช่วงต้น แต่เมื่อเวลาต่อมากลับได้เห็น “สภาวะปกติใหม่” บนโลกออนไลน์ เช่น การย้ายการประชุม ย้ายเวทีเสวนาจากโรงแรม มหาวิทยาลัย ไปสู่พื้นที่ออนไลน์

เมื่อวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2563 วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยรศ. ดร. ศุภวัฒนากร วงศ์ธนวสุ ได้จัด สัมมนาเพื่อหาคำตอบหลังโควิด-19 ครั้งที่ 7 ภายใต้หัวข้อ ฉายภาพอนาคตประเทศไทย โดยมี ดร. พิมพ์รภัช ดุษฎีอิสริยกุล ผู้จัดการโครงการมูลนิธิฟรีดริช เนามัน เป็นผู้นำการพูดคุยกับธนิสรา เรืองเดช CEO และผู้ก่อตั้ง PunchUp World และผู้จัดการโครงการ Elect.in.th และ ศานนท์ หวังสร้างบุญ Co-founder และ สมาชิกเครือข่าย SATARANA-สาธารณะ

ในอดีต โรคระบาดนำไปสู่ความล่มสลาย และทำให้โครงสร้างทางสังคมเปลี่ยนแปลงไป มีสิ่งดีๆ ที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้นเพื่อสร้างแรงบันดาลใจที่ยิ่งใหญ่ในการขับเคลื่อนสู่ความสำเร็จต่อไปหรือไม่ มาดูภาพสะท้อน ภาพอนาคตของประเทศไทย ผ่านการฉายภาพอนาคตประเทศไทยกันต่อจากนี้

Online session

สภาพแวดล้อม นวัตกรรม และโอกาสในวิกฤตโควิด-19 จากมุมมองผู้ประกอบการ

กุ๊งกิ๊ง อดีตผู้สื่อข่าวสำนักข่าวออนไลน์ พบกับจุดเปลี่ยนเมื่อถึงช่วงเลือกตั้งที่เจอกับข้อมูลจำนวนมหาศาล กุ๊งกิ๊งอยากสื่อสารสร้างความตระหนักให้กับคน ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้ออกไปใช้สิทธิบนฐานของข้อมูล จึงเป็นจุดเริ่มต้นของ Elect.in.th ที่วางกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้มีสิทธิออกเสียงรุ่นใหม่ โดยนำข้อมูล ข้อความมาแปลงเป็นรูปภาพ สร้างการสื่อสารให้คนค้นหา เข้าใจ และส่งต่อได้ง่ายขึ้น จากการนำข้อมูลมาใช้ในครั้งนั้น ตอนนี้กุ๊งกิ๊งเห็นว่า “มีข้อมูลอยู่รอบตัวเราเยอะมาก เราสามารถใช้ข้อมูลเพื่อสร้างการรับรู้ได้มากขึ้น นั่นเลยเป็นจุดเริ่มต้นของ PunchUp ที่ต้องการนำข้อมูลมาสื่อสาร งานชิ้นแรกของ PunchUp คือ การนำเสนอวิกฤตปลาทูไทยร่วมกับไทยรัฐออนไลน์ งานชิ้นนั้นถูกสื่อสารไปถึงผู้บริหารระดับสูง ทำให้เกิดการรับมือและแก้ปัญหาวิกฤตปลาทูไทย เมื่อเห็นว่าทำได้เราจึงกระจายประเด็นออกไปหลายๆ ด้าน ทั้ง สิ่งแวดล้อม ความรุนแรง การศึกษา โดยงานหลักคือการนำข้อมูลมาเล่า แสดงผล เพื่อให้เกิดผลกระทบทางสังคม (social impact)”

ศานนท์ ผู้ก่อตั้งและสมาชิกเครือข่าย SATARANA (สาธารณะ) เล่าว่าเครือข่ายสาธารณะทำงานค่อนข้างกว้าง เครือข่ายเรามีคนจากหลายวิชาชีพ หลายทักษะที่มีความสนใจร่วมกันในการพัฒนาชุมชนและเมืองผ่านทักษะที่แต่ละคนมี โดยใช้แนวทางการพัฒนาอย่างมีส่วนร่วม ให้คนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา ด้วยกรอบคิดที่ครอบคลุม ทำให้เราทำงานได้หลายประเด็นตามที่สนใจ “อย่างเรื่องการขนส่งสาธารณะ ก็มีกลุ่ม MayDay เริ่มจากการพัฒนาข้อมูล และมุ่งสู่ตัวคนที่เป็นผู้ใช้ เช่นเห็นว่า ผู้ใช้รถเมล์ส่วนมากอาจไม่ใช่กลุ่มที่เข้าถึงเทคโนโลยีอย่างกว้างขวาง เราก็ใช้วิธีปรับปรุงป้ายรถเมล์ให้คนเข้าถึงได้มากขึ้น” ศานนท์เล่าเสริม

New Normal หลังวิกฤตโควิด-19 กลับไปเหมือนเดิมหรือเราเปลี่ยนไปแล้วจริงๆ?

“กิ๊งเชื่อว่ามันจะเปลี่ยนไป ความปกติมันจะเปลี่ยนไป เราจะมีความระวังตัวมากขึ้น วิกฤตเหล่านี้ก็มีโอกาสเกิดขึ้นซ้ำ อาจะเป็นโรคอื่น หรือไม่ใช่โรคภัยไวรัส แต่สิ่งนี้ก็จะช่วยให้คนเรียนรู้และระวังตัวมากขึ้นในอนาคต” กุ๊งกิ๊งตอบ ในมุมมองอื่น กุ๊งกิ๊งเห็นว่าการศึกษาและองค์กรต่างๆ จะปรับตัวให้เข้าถึงคนจำนวนมาก โดยลดการพบปะทางกายภาพลงได้ และอาจลดช่องว่าทางการศึกษาลงไปได้อีก ส่วนด้านสังคมเราได้เห็นการรวมกลุ่มและทำกิจกรรมอย่างเป็นอิสระจากรัฐ ไม่รอรัฐบาล อย่างเช่นการใช้เครือข่ายชุมชนขับเคลื่อน หรือการใช้กลุ่ม civic tech ในการรวบรวมและเป็นพื้นที่พบปะแลกเปลี่ยน ทำให้คนที่มีของกับคนที่หาของได้มาเจอกัน “การทำกิจกรรมเหล่านี้ส่วนหนึ่งเพราะพวกเขาเห็นข้อจำกัดของระบบราชการ เห็นว่าด้วยโครงสร้างและทรัพยากรที่มีอาจไม่เพียงพอในการรับมือ แต่พวกเขาก็คาดหวังโครงสร้างและการสนับสนุนขั้นพื้นฐานอยู่” กิ๊งเล่าต่อ “กิ๊งยังหวังจะเห็นความร่วมมือระหว่าง civic tech กับ govt tech อีกด้วย อย่างไต้หวันก็เป็นตัวอย่างที่ดีในการเชื่อมและใช้ข้อมูลที่ขาดมาเติมและขับเคลื่อนระดับประเทศต่อไป และยังมีการศึกษานวัตกรรมต่างๆ ที่น่าจะเปลี่ยนแนวทางการใช้ชีวิตของเราไปเหมือนกัน”

“โลกหลังโควิด หรือ New Normal น่าจะเปลี่ยนไป ทุกคนต่างได้รับผลกระทบ คนที่เข้าใจดิจิทัลก็น่าจะเปลี่ยนแต่ไม่ได้รับผลกระทบมากเพราะเขาคุ้นชินกับมัน แต่คนในชุมชนที่ไม่เข้าใจเรื่องเทคโนโลยีหรือดิจิทัลน่าจะได้รับผลกระทบมาก ผลกระทบและความเปลี่ยนแปลงนี้จะส่งผลต่อบทบาทของรัฐบาลค่อนข้างสูง อย่างกรณีการประกาศชัทดาวน์เมืองมันไม่ใช่แค่การรักษาหรือควบคุมโรค แต่มันเป็นการดึงสิทธิในการเลือกซื้ออาหารออกไปจากชุมชน ไปสู่ทุนใหญ่หรือเดลิเวอรี่ ที่รัฐเองก็ยังไม่ได้มีกลไกรรับรองบริการเหล่านี้ให้กับประชาชนด้วยซ้ำ

การดึงโอกาส ดึงเสรีภาพที่จะเลือกไปจากคนเลยนำไปสู่ความเหลื่อมล้ำที่สูงขึ้น จากสิ่งที่เหมือนจะเป็นวิกฤต ผมเลยเห็นว่าประชาสังคมและชุมชนเข้มแข็งมากขึ้น พวกเขาร่วมมือกันสร้างพลังให้กับชุมชนได้ทำอะไรด้วยตัวเอง เลยห็นว่าความร่วมไม้ร่วมมือเป็นกุญแจในการก้าวผ่านวิกฤตไปด้วยกัน วิกฤตนี้มันช่วยเชื่อมคนให้ใกล้กัน ผมเห็นว่าควรมีความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนเพื่อพัฒนาชุมชนโดยชุมชนอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน

รัฐบาลอาจต้องปรับตัวเป็น “ผู้อำนวยความสะดวก” ให้กับชุมชน ให้ชุมชนเป็นหลักในการร่วมมือและขับเคลื่อน เพราะอีกทางหนึ่งการรวบอำนาจไว้กับรัฐจะทำให้ชุมชนขับเคลื่อนยาก แต่ในตอนนี้ที่เห็นมันมีความร่วมมือมันเกิดขึ้นแล้ว ผมมองว่ารัฐบาลสามารถกระจายอำนาจการตัดสินใจสู่ชุมชน โดยที่รัฐไม่ต้องลงมือขับเคลื่อนเองทุกอย่าง จะเป็นแนวทางการเคลื่อนเมืองแบบใหม่ในอนาคตได้” ศานนท์ตอบ

Dream Thailand

ภาพจาก เพจ Locall Thailand www.facebook.com/LocallThailand/

ในฐานะผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ที่ทำงานเชื่อมกับภาคประชาสังคมมาก มีแนวคิด แนวทางเกี่ยวกับการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ลดความเหลื่อมล้ำ หรือส่งเสริมการเข้าถึง Digital Literacy ยังไง?

“ปัญหาตอนนี้ไม่ใช่การเข้าถึงเทคโนโลยี คนเข้าถึงอุปกรณ์ แต่ไม่สามารถใช้ประโยชน์จากอุปกรณ์ได้ อุปกรณ์เป็นส่วนหนึ่ง แต่อีกอย่างที่สำคัญคือองค์ความรู้และทักษะ การรู้เท่าทันและไม่ถูกเอาเปรียบ วิกฤตตอนนี้ทำให้เห็นปัญหาเรื่อง Digital Literacy ชัดเจนมากขึ้น” กุ๊งกิ๊งเล่าต่อว่า PunchUp ถือว่าได้รับผลกระทบในแง่การทำงานน้อย เพราะทำงานกับเทคโนโลยีดิจิทัลอยู่แล้ว แต่มาตรการนี้ก็ทำให้ปฏิสัมพันธ์กับคนหายไป แต่ในส่วนเศรษฐกิจและการจ้างงานหรือทำโครงการก็ได้รับผลกระทบบ้าง เพราะหลายที่ต้องระงับโครงการไป ในแง่นี้หลายธุรกิจก็ต้องปรับโมเดล จากที่คิดถึงกำไรเป็นที่ตั้ง อาจต้องปรับเป็นไม่ให้ขาดทุน แล้วนำกำไรที่ได้หรือทุนที่พอไปกระจายสู่ชุมชนหรือสังคมต่อ เพราะ “สุดท้ายถ้าไปเรารอดคนเดียว แต่ไม่มีคนที่ไปรอดกับเรา สุดท้ายเราทำธุรกิจกับใคร ก็ไม่มีคนทำธุรกิจกับเราอยู่ดี”

กุ๊งกิ๊งเล่าต่อว่า “นอกจากนี้ ก็อาจเห็นว่าแม้แต่บริษัทที่ใช้เทคโนโลยีในการทำงานก็ได้รับผลกระทบจากมาตรการ เพราะไม่เคยเตรียมตัวหรือปรับการทำงานมาสู่แพลตฟอร์มออนไลน์ สถานกาณ์นี้เป็นการบังคับให้ปรับตัว เพื่อให้ขับเคลื่อนงานและเศรษฐกิจต่อไปได้”

ศานนท์เล่าถึงผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ในฐานะเจ้าของกิจการโฮสเทลว่า โฮสเทลได้รับผลกระทบมาก ด้วยแก่นของโฮสเทลคือการเชื่อมคน เชื่อมโลก ให้มาพบปะกันในทางกายภาพ โฮสเทลมันคือการออกแบบสิ่งอำนวยความสะดวกให้คนได้มาเจอกัน แต่การระบาดของโควิด-19 เป็นการโจมตีที่แก่นของธุรกิจเลย “นักท่องเที่ยวลดลงจาก 100 คน เหลือ 0 คนคงไม่กล้าเดินทางท่องเที่ยว หรือกลับไปสู่ไลฟ์สไตล์แบบเดิมหากยังไม่มีวัคซีน” ศานนท์เล่าต่อว่าในวิกฤตนี้เขาได้กลับมาพิจารณาธุรกิจและกิจการท่องเที่ยวที่เป็นรายได้หลักของประเทศ คิดเป็นประมาณร้อยละ 20 ของ GDP แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์นี้ทำให้เราเห็นปัญหาว่าเมืองถูกออกแบบเพื่อนักท่องเที่ยว ไม่ได้มีความยั่งยืนในตัวเอง เลยนำไปสู่คำถามว่าแล้วเราควรออกแบบเมืองเพื่อคนไทยและคนท้องถิ่นด้วยไหม

“สิ่งนี้ก็กลับไปตอบคำถามข้อแรก คือเราได้เห็นโอกาสเยอะ เรากลับไปเชื่อมกับชุมชน จากที่ไม่เคยคิดว่าย่านที่เราอยู่จะไม่มีคนเดินเข้ามา (ย่านประตูผี) แต่ตอนนี้มันเกิดขึ้น เรากลับมาคิดถึงความร่วมมือในชุมชน และหันไปหาโอกาสที่มันเคยอยู่ในมือของคนอื่น แพลตฟอร์มอื่น เมื่อเราเห็นโอกาสเราเลยรวมตัวเป็นย่านและสร้างโอกาสของตัวเอง ครั้งนี้ก็น่าจะเป็นโอกาสที่ทำให้เกิดความเข้าถึง เชื่อมโยงกับสิ่งที่เขาทำ” ศานนท์เล่า

 

นอกจากการพัฒนา Digital Literacy แล้ว มันมีโครงสร้างพื้นฐานอะไร แบบไหนที่รองรับและสนับสนุนให้คนสามารถปรับตัวในภาวะการเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิทัลได้?

“ถนน สะพาน เป็นโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับและเชื่อมโยงคน ตอนนี้โครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญคือการเข้าถึงพื้นที่ออนไลน์ แต่เรายังไม่มีโครงสร้างพื้นฐาน จากวิกฤตครั้งนี้เราก็เห็นโอกาสและริเริ่ม Locall.BKK ด้วยความตั้งใจให้พื้นที่นี้เป็นโครงสร้างพื้นฐานให้ทุกคน ให้ชุมชน เป็นสร้างโครงสร้างที่เขาสามารถสร้างเศรษฐกิจในวันที่จะเปลี่ยนไปสู่อนาคตได้ หากมองไปไกลกว่านี้ สิ่งนี้คือการสร้างเศรษฐกิจฐานรากที่มีพื้นที่ดิจิทัลเป็นตัวกลาง โดยอาจมีค่าบริการในสัดส่วนที่ชุมชนอยู่ได้ ผู้บริโภคอยู่ได้ แล้วนำค่าบริการนั้นไปพัฒนาชุมชน แต่หากเราไม่ทำอะไร ไม่มีพื้นที่นี้ชุมชนก็จะถูกทุนครอบงำไป และสร้างความเหลื่อมล้ำที่กว้างออกไปอีก” เป็นคำตอบของศานนท์

กุ๊งกิ๊งกล่าวเสริมว่า “การเข้าถึงเทคโนโลยีเป็นโครงสร้างพื้นฐานก็จริง แต่อีกส่วนที่รัฐจะสนับสนุนได้คือการพัฒนาข้อมูล คือรัฐอาจไม่ต้องลงมือทำเองทั้งหมด แต่รัฐต้องใจกว้างพอที่จำนำข้อมูลที่เอกชนทำไปใช้ประโยชน์ในการจัดการ ที่สำคัญคือทำให้เกิดการกระจายอำนาจ ให้ชุมชน ประชาสังคมตัดสินใจด้วยตัวเองได้ อย่างกรณีผู้ได้รับผลกระทบในนิยามของรัฐไม่ครอบคลุม มันเกิดจากโครงสร้างด้านข้อมูลที่ยังไม่ดี ทำให้รัฐมองไม่เห็นคนบางคนไป ตอนนี้ประเทศไทยยังไม่มีระบบข้อมูลแบบเปิดที่เชื่อมโยงข้อมูลกัน ก็เป็นสาเหตุของปัญหาที่เราเห็นกันในสังคมเหมือนกัน ในหลายประเทศมีการนำข้อมูลเปิดมาใช้และเชื่อมโยงระหว่างรัฐกับเอกชน เช่นระบบติดตามผู้ติดเชื้อ แสดงตัวเลขผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือ และด้านอื่นๆ เลยเห็นได้ว่าโครงสร้างนี้ไม่จำเป็นต้องเกิดจากรัฐเท่านั้น อาจเป็นความร่วมมือและเปิดรับนำข้อมูลไปใช้ในการจัดการ”

 

หากจะเริ่มดูแลชุมชนควรเริ่มยังไง? และกรณีที่มีการเรียกเก็บค่าบริการที่สูงมากๆ พอจะมีทางแก้ไขไหม?

“ชุมชนเป็นเรื่องของความสัมพันธ์ มันอาจจะไม่มีสูตรสำเร็จสำหรับทุกที่ แต่ส่วนสำคัญของความสัมพันธ์คือ มันจะมีการแลกเปลี่ยน หาทางออก และมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาร่วมของคนในชุมชน พื้นฐานแรกน่าจะเป็นการรู้จักเอื้ออาทรต่อกัน ต้องทำความเข้าใจ และคุยกับชุมชนผ่านการสร้างความสัมพันธ์ก่อน

ส่วนค่าบริการ ขอตอบว่ามันจะกลับไปสู่การกระจายอำนาจ คือ ป้องกันไม่ให้มีเจ้าภาพเดี่ยว หรือคนกำหนดราคาใหญ่อยู่คนเดียว จัดการคนเดียว Locall.BKK เกิดจากการตกลงกันในย่านเพื่อให้ผลกลับไปสู่ย่าน และจุดกำเนิด Locall.BKK ไม่ใช่เพื่อความมั่งคั่งของแพลตฟอร์ม แต่เพื่อกระจายอำนาจ สร้างโครงสร้างพื้นฐานให้กับย่านและชุมชน ผมฝันเห็นการช่วยเหลือในยูนิตเล็กๆ และต้องมีโครงสร้างพื้นฐานในชุมชน” เป็นคำตอบของศานนท์

 

Dream Thailand Post-COVID-19

กุ๊งกิ๊งเล่าว่า “PunchUP กับ FNF ได้ทำแคมเปญแบบสอบถาม Dream Thailand Post-COVID-19 ร่วมกัน จากแบบสอบถามที่เก็บได้ในตอนนี้ก็เห็นความน่าสนใจข้อมูล แบบสอบถามที่เก็บกัน คำตอบที่เห็นบ่อยคืออยากเห็นประเทศไทยดีขึ้น โดยภาพของคำว่าดีขึ้นก็แบ่งได้ออกเป็น 2 แบบใหญ่ๆ คือ การจัดการและมาตรการดูแลของรัฐดีขึ้น ส่วนอีกทางหนึ่งก็ไปในทิศทางที่ประชาชนลงมือสร้างความเปลี่ยนแปลงด้วยตัวเอง รัฐทางเดียวอาจจะดูแลไม่ครอบคลุม นอกจากนี้ยังมีการกล่าวถึงประเด็นอื่นๆ ในรายละเอียด เช่น ด้านการศึกษา เศรษฐกิจ สาธาณสุข และสิ่งแลดล้อม ข้อมูลเหล่านี้จะนำไปประมวลและนำเสนอหลังจากเราปิดรับแบบสอบถามแล้ว”